แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ อ. กำลังทำรายการ “ทำผิดอย่าเผลอ” ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก ม. ว่าถูกจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นกลุ่มหลอกขายเหล็กไหลหลอกลวงจนต้องสูญเงินไปหลายแสนบาท ผู้เสียหายกับ ม. จึงดำเนินการวางแผนเพื่อการจับกุมด้วยการติดต่อกับกลุ่มของจำเลยทั้งห้า หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุม โดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย มีผลทำให้การสอบสวนในความผิดดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 341, 371 ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นเงินสดจำนวน 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธปืน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุกคนละ 2 ปี และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 1,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 1,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นเงินสดจำนวน 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาฉ้อโกง คืนของกลางทั้งหมดให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้เสียหายคดีนี้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จากทางนำสืบของโจทก์ ได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจประยุทธ และพันตำรวจโทไพสิฐว่า ขณะที่นางสาวสมปรารถนา ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกำลังทำรายการ “ทำผิดอย่าเผลอ” ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายสมสิทธิ์ว่า นายสมสิทธิ์ ถูกจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นกลุ่มหลอกขายเหล็กไหลหลอกลวงจนต้องสูญเงินไปหลายแสนบาทผู้เสียหายกับนายสมสิทธิ์จึงดำเนินการวางแผนเพื่อการจับกุมด้วยการติดต่อกับกลุ่มของจำเลยทั้งห้า เรื่องการซื้อขายเหล็กไหล หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสายไหมให้ทำการจับกุมจำเลยทั้งห้าที่ผู้เสียหายได้นัดเจรจาเรื่องซื้อขายเหล็กไหลกันไว้ โดยผู้เสียหายได้นำเงินของผู้เสียหายจำนวน 20,000 บาท ที่จะใช้เป็นเงินประกันให้จำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างตัวเป็นผู้ซื้อจะซื้อเหล็กไหลไปถ่ายเอกสารและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เห็นว่า พฤติการณ์ของคดีตามทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักข่าวได้รับการร้องเรียนถึงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่หลอกลวงขายเหล็กไหลจากผู้ชมรายการของผู้เสียหาย จึงวางแผนพิสูจน์การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเพื่อให้มีการจับกุมมาลงโทษ หลังจากที่มีการติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวจนทราบแน่ชัดว่ามีพฤติกรรมในการหลอกลวงจริง จึงประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมโดยผู้เสียหายนำเงินที่จะต้องวางประกันในการทำสัญญาจะซื้อจะขายเหล็กไหลไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก็เพื่อจะได้เป็นหลักฐานของการกระทำความผิด พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมา จึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง โดยการหลอกล่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งก็คือจำเลยทั้งห้ามากระทำความผิดอันเป็นการก่อให้จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง มิใช่เป็นเพราะจำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมายทำให้การสอบสวนในความผิดดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน