แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีบังคับจำนองนั้น แม้หนี้จำนองเกิน 10 ปี แล้วก็ยังฟ้องได้
ฟ้องขอให้ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิหรือยึดที่จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จำนองนั้น เมื่อปรากฎว่าจำเลยค้างดอกเบี้ยเกิน 5 ปีแล้ว และผู้จำนองไม่ได้ต่อสู้ไว้ว่าที่จำนองมีราคาท่วมหนี้จำนองศาลก็ย่อมพิพากษาให้เอาที่จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลพิพากษาให้ที่จำนองตกเป็นกรรมสิทธิของโจทก์หรือยึดที่จำนองมาขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ เท่าใด ไม่พอหนี้ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และให้ใช้ดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางเพราะไม่ใช่กู้ยืมเงินกันจริง เป็นหนี้เกิดจากการเข้าหุ้นส่วนกัน มาคิดเป็นต้นเงินจำนองและตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นคดีจำนองจำเลยจะยกอายุความขึ้นตัดไม่ได้ จึงพิพากษาให้ที่จำนองตกเป็นสิทธิแก่โจทก์เพราะจำเลยขาดส่งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง และว่าคดีขาดอายุความกับคัดค้านว่า โจทก์มีคำขอให้ที่จำนองหลุด หรือยึดขายทอดตลาดศาลหาควรพิพากษาให้ที่จำนองหลุด เพราะที่มีราคาท่วมหนี้จำนอง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องอายุความมี ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๘๙ ยกเว้นไว้ คดีจึงไม่ขาดอายุความส่วนข้อคัดค้านอื่น ๆ จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยค้างดอกเบี้ยเกิน ๕ ปีแล้ว โจทก์ก็ขอให้ที่หลุดเป็นสิทธิได้ตามมาตรา ๗๒๙ จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายขึ้นมาเช่นเดียวกับชั้นอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ชอบด้วยการพิจารณาและข้อกฎหมายแล้ว
จึงพิพากษายืน