แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์สินพิพาทสิ้นสุดลง ผู้เช่าก็ย่อมสิ้นสิทธิที่จะอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อตกลงในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ระบุว่า หากผู้เช่ายังคงอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปโดยไม่มีสิทธิตามสัญญาเช่า และผู้ให้เช่าได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าภายใน 30 วัน ก็ให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันทีนั้น มิได้ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดเสียเปรียบหรือมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก จนอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด แต่กลับเป็นการย้ำเตือนให้คู่สัญญาต้องประพฤติปฏิบัติตามสัญญาเช่าเพื่อมิให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ข้อตกลงดังกล่าวหาได้มีลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือชี้นำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กำลังบังคับและให้มีการทำร้ายกันโดยพลการไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
จำเลยร่วมได้ขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่า โดยจำเลยร่วมมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแจ้งให้โจทก์ออกจากทรัพย์สินที่เช่าแล้ว โจทก์ก็ควรจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าโดยยินยอมออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าโดยดี เมื่อโจทก์ประพฤติผิดสัญญาเช่าโดยไม่ยินยอมออกไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซึ่งมีสิทธิใช้สอย ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองใช้กลุ่มบุคคลประมาณ 50 คน เข้ายึดถือครอบครองโรงแรมพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1378/2556 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และบริวารออกจากทรัพย์สินที่เช่าและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ตามสิทธิการเช่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 7,200,000 บาท และวันละ 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าคดีถึงที่สุด
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์และบริวารห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการใช้สิทธิและการครอบครองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 50721 และ 50718 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในโรงแรมจำนวน 432 รายการ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายสหพัชรหรือเอกพัชร ซึ่งเป็นบุตรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มิถุนายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และวันละ 60,000 บาท อีกไม่เกิน 5 เดือน 12 วัน โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากผู้ตาย ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในอนาคตชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2547 โจทก์ทำสัญญาเช่าโรงแรม เจ.บี. โฮเต็ล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่พิพาท พร้อมทรัพย์สินจากจำเลยร่วม และมีการต่อสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550 ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด โดยมีข้อตกลงตามสัญญาเช่าข้อ 12 เรื่องการสิ้นสุดของสัญญาเช่า ระบุไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอกให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่าต้องขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เช่าออกจากทรัพย์สินที่เช่า และส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่ดีและซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว หากผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่าต่อไปและผู้ให้เช่ามีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันแล้ว ให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้โดยทันที และมีสิทธิขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าเพื่อนำไปเก็บไว้ หรือจัดจำหน่ายตามที่เห็นสมควร และ/หรือดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นตามที่ผู้ให้เช่าเห็นสมควรเพื่อการกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่า นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินที่เช่า หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางการเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุด ผู้ให้เช่ามีสิทธิปรับผู้เช่าเป็นรายวันในอัตราวันละ 44,000 บาท จนกว่าผู้เช่าจะได้ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่าโดยเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2554 จำเลยร่วมตกลงขายโรงแรมพิพาทพร้อมทรัพย์สินให้แก่นางสาวอมรรัตน์ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 จำเลยร่วมมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์ และแจ้งให้โจทก์ออกจากทรัพย์ที่เช่าภายในวันที่ 30 เมษายน 2554 ต่อมานางสาวอมรรัตน์โอนกรรมสิทธิ์โรงแรมพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองบอกกล่าวด้วยวาจาแก่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ว่าจะเข้ามาบริหารกิจการโรงแรมพิพาทแล้วแต่โจทก์ไม่ยินยอม ครั้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กลุ่มบุคคลประมาณ 50 คน เข้ายึดถือครอบครองโรงแรมพิพาทจากโจทก์และไม่ยอมให้ผู้บริหารของโจทก์เข้าไปในโรงแรมพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อสิทธิของโจทก์และจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์สินพิพาทสิ้นสุดลง ผู้เช่าก็ย่อมสิ้นสิทธิที่จะอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าอยู่แล้ว ดังนั้น ข้อตกลงในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ระบุว่า หากผู้เช่ายังคงอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปโดยไม่มีสิทธิตามสัญญาเช่า และผู้ให้เช่าได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าภายใน 30 วัน ก็ให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันทีนั้น มิได้ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดเสียเปรียบหรือมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก จนอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด แต่กลับเป็นการย้ำเตือนให้คู่สัญญาต้องประพฤติปฏิบัติตามสัญญาเช่าเพื่อมิให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ข้อตกลงดังกล่าวหาได้มีลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือชี้นำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กำลังบังคับและให้มีการทำร้ายกันโดยพลการไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิได้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์ฎีกา
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยร่วมได้ขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่า โดยจำเลยร่วมมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแจ้งให้โจทก์ออกจากทรัพย์สินที่เช่าแล้ว โจทก์ก็ควรจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าโดยยินยอมออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าโดยดี เมื่อโจทก์ประพฤติผิดสัญญาเช่าโดยไม่ยินยอมออกไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซึ่งมีสิทธิใช้สอย ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองใช้กลุ่มบุคคลประมาณ 50 คน เข้ายึดถือครอบครองโรงแรมพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ