คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้ตามคำพิพากษาที่เป็นสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของธนาคารโจทก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน โจทก์ย่อมสามารถโอนสินทรัพย์ดังกล่าวที่เป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และผู้ร้องได้มอบหมายให้โจทก์ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นอันชอบด้วยพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 6 และมาตรา 9 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนไปยัง จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ร้องจึงเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ ทั้งการโอนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องมิใช่การซื้อขายความจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน913,085.40 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 746,066.79บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันชำระหนี้ 1,087.69บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,012 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 และมีลักษณะเป็นการซื้อขายความกันขัดต่อความสงบเรียบร้อยเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.1 มีวัตถุประสงค์บริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของสถาบันการเงินตามนโยบายรัฐบาลซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ตามเอกสารหมาย ร.2 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 6 บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดแต่การค้ำประกันให้หลักประกันนั้นตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วย มาตรา 9 บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์… เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เป็นสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน โจทก์ย่อมสามารถโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และผู้ร้องได้มอบหมายให้โจทก์ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้จึงเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 6 และมาตรา 9โจทก์และผู้ร้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าวซึ่งประกาศใช้โดยชอบแล้ว การโอนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องหาใช่การซื้อขายกันดังที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ กรณีจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share