แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน นิติกรรมซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรคสอง และย่อมถือว่าสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลย จึงมีผลบังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยได้ทำสัญญาขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 624 เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวาตั้งอยู่ที่ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ให้แก่โจทก์ในราคา 12,000 บาท โดยส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองทำกินและรับเงินค่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยต้องไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์แต่จำเลยยังไม่ได้ดำเนินการให้โจทก์บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไป ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ความจริงจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ซึ่งเป็นญาติกัน 12,000 บาทโดยตกลงให้โจทก์เข้ากรีดยางพาราเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย โจทก์ขอให้จำเลยทำเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อหลีกเลี่ยงหลักศาสนาอิสลามที่ห้ามเรียกดอกเบี้ยและเพื่อมิให้เจ้าหนี้อื่นของจำเลยมายึดที่ดินแปลงนี้ สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นโมฆะเพราะเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน จึงต้องบังคับกันตามสัญญากู้ยืมเงิน กล่าวคือจำเลยต้องคืนเงิน 12,000 บาท ให้แก่โจทก์และโจทก์ต้องคืนที่ดินพิพาทและ น.ส.3 ก. ให้แก่จำเลย จำเลยเคยนำเงิน 12,000 บาท ไปชำระแก่โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับ ขอให้พิพากษายกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับเงิน 12,000 บาท จากจำเลยพร้อมทั้งส่งมอบ น.ส.3 ก. เลขที่ 624คืนแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ความจริงเป็นเรื่องซื้อขายที่ดินกันตามที่โจทก์ฟ้อง เหตุที่ไม่ได้จดทะเบียนการซื้อขายทันทีเพราะจำเลยรีบใช้เงิน แต่จำเลยตกลงว่าจะจดทะเบียนการซื้อขายให้ในภายหลัง ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องเป็นการอำพรางสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ และถือว่าสัญญาซื้อขายฉบับพิพาทเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมบังคับกันได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์รับเงิน 12,000 บาท จากจำเลยพร้อมทั้งให้โจทก์ส่งมอบ น.ส.3 ก. เลขที่ 624 ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดาจังหวัดสงขลา คืนแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก. เลขที่ 624 ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 4 ไร่เศษเป็นของจำเลย ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยและโจทก์ได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวโดยระบุว่าจำเลยขายให้แก่โจทก์ในราคา 12,000 บาท โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทและได้รับมอบน.ส.3 ก. จากจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญา มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริงหรือเป็นสัญญาอำพรางการกู้ยืมเงินซึ่งจำเลยกู้ยืมจากโจทก์แล้วมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก เดิม (มาตรา 155 วรรคแรกที่แก้ไขใหม่) และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118วรรคสอง เดิม (มาตรา 155 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่) และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงมีผลบังคับกันได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยยอมชำระเงินที่กู้ยืมคืนแก่โจทก์ โจทก์ต้องคืนที่ดินพิพาทและ น.ส.3 ก. ให้แก่จำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน