คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่สัญญากู้ยืมเงินระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ให้โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ครบถ้วน ข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง โจทก์คงคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เท่านั้น การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญา ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 7,084,795.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่าหนี้กู้ยืมและค้ำประกันในส่วนที่เป็นต้นเงินโจทก์ขอมาเพียง 7,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ย 62,136.99 บาท โจทก์มิได้ขอมาด้วย นอกจากนี้เงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนอง 22,658.32 บาท ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเป็นอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นนำดอกเบี้ย 62,136.99 บาท กับเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 22,658.32 บาท มารวมกับต้นเงิน 7,000,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และมีผลให้จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยซ้ำซ้อน ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจกท์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 8,754,391.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 22,658.32 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำขอ ขอให้บังคับเอาห้องชุดของอาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดบ้านสุขปรีดาเรสซิเด้นท์ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 6/2540 จำนวน 76 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 67136, 78820, 78821, 78822 และ 79672 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอศาลลดอัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องเหลือในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,084,795.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาเอ็มแอลอาร์บวกร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยตามประกาศดังกล่าวเป็นต้นไปนั้นต้องไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ หากไม่ชำระให้ยึดห้องชุดของอาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดบ้านสุขปรีดาเรสซิเด้นท์ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 6/2540 จำนวน 76 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 67136, 78820, 78821, 78822 และ 79672 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 22,658.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตแต่การที่จำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
ปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นเบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจลดลงหรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ข้อ 2.1 จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี บวกด้วย 1.5 ต่อปี เมื่อบวกรวมแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ 8 ต่อปี แม้สัญญาข้อ 2.2 จะระบุให้เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบ แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตามแต่สัญญาข้อ 8 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ให้โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ครบถ้วน ข้อเท็จจริงได้ความตามรายละเอียดการชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานว่า นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งแต่ไม่มีครั้งใดที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดและจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 โจทก์คงคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เท่านั้น ซึ่งก็ยังสูงกว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 8 ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจลดลงเมื่อสูงเกินส่วนจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 7,084,795.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฎตามคำฟ้องว่าหนี้กู้ยืมและค้ำประกันในส่วนที่เป็นต้นเงินโจทก์ขอมาเพียง 7,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยจำนวน 62,136.99 บาท ที่ปรากฏตามรายละเอียดการชำระหนี้เงินกู้ว่าค้างชำระอยู่จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 นั้น โจทก์มิได้ขอมาด้วย นอกจากนี้เงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองจำนวน 22,658.32 บาท ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเป็นอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นนำดอกเบี้ยจำนวน 62,136.99 บาท กับเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยจำนวน 22,658.32 บาท ดังกล่าวมารวมกับต้นเงิน 7,000,000 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 7,084,795.31 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และมีผลให้จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยซ้ำซ้อน ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและค้ำประกันให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 7,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share