แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอเลิกหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชี ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียกร้องทรัพย์สิน หรือส่วนแบ่งอย่างใด จึงเป็นคดีมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรืออีกนัยหนึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เพราะโจทก์ไม่ได้เรียกร้องทรัพย์สิน และคดีก็ไม่ได้พิพาทกันว่าทรัพย์สินในหุ้นส่วนนี้มีอะไรบ้าง คดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาได้
ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 144 เป็นเรื่องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิมที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดแล้วใหม่อีก ส่วนมาตรา 148 ห้ามมิให้คู่ความฟ้องซ้ำ
โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแขวงๆพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวง โจทก์มิได้อุทธรณ์คงนำคดีนั้นไปฟ้องยังศาลแพ่ง ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องอีก
โดยวินิจฉัยว่า เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง โจทก์จึงมายื่นฟ้องต่อศาลแขวงอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ เป็นเรื่องโจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่ กรณีไม่ใช่มาตรา 144 และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 148 เพราะศาล-ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องอันเป็นมูลฟ้องนั้น ศาลแขวงต้องรับฟ้องโจทก์ไว้ดำเนินคดีต่อไป
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องคดีขอให้เลิกการเป็นหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชี ต่อศาลแขวงพระนครใต้ๆ พิพากษาฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องยังศาลมีอำนาจต่อไป โดยวินิจฉัยว่า จำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่หุ้นส่วน ไม่ใช่เจ้าของร่วมคดีจึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินอำนาจศาลแขวง
โจทก์จึงไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ๆ เห็นว่าคดีไม่มีข้อพิพาทกันด้วยทุนทรัพย์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ชอบที่โจทก์จะดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งมีอำนาจ จึงพิพากษาฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้อีกครั้งหนึ่ง ของเลิกหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชี
ศาลแขวงวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแขวงพระนครใต้ได้พิพากษาว่า ไม่มีอำนาจพิจารณา ให้ยกฟ้อง โจทก์ไม่เห็นด้วยก็ต้องอุทธรณ์ต่อไป จะฟ้องซ้ำไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๔๔, ๑๔๘ จึงไม่รับคำฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลแขวง ให้ศาลแขวงรับฟ้องไว้ดำเนินการพิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอเลิกหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชี โจทก์หาได้เรียกร้องทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งอย่างใดไม่ คดีจึงมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรพย์ เพราะโจทก์ไม่ได้เรียกร้องทรัพย์สินและคดีก็ไม่ได้พิพาทกันว่า ทรัพย์สินในหุ้นส่วนนี้มีอะไรบ้าง หากแต่ไม่โจทก์ตั้งข้อฟ้องมาว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลย ขอให้เลิกหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชีคดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาได้
ส่วนที่อ้างถึง ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๔๔, ๑๔๘ กันมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังเข้าใจกันสับสนอยู่ มาตรา ๑๔๔ ห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น อันเกี่ยวกับคดี หรือประเด็นที่ได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดแล้ว เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นดังว่าไว้ ส่วนมาตรา ๑๔๘ เป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้นำคดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วมาฟ้องร้องอีก เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้น จึงแตกต่างกันในข้อที่ว่ามาตรา ๑๔๔ เป็นเรื่องไม่ให้ศาลดำเนินในคดีเดิมที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดแล้วใหม่อีก ส่วนมาตรา ๑๔๘ ห้ามมิให้คู่ความมาฟ้องร้องซ้ำ เรื่องนี้โจทก์มาฟ้องยังศาลแขวงเป็นคดีใหม่ กรณีจึงไม่ใช่มาตรา ๑๔๔ และไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๘ เพราะศาลยังมิได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเลิกหุ้นส่วน และตั้งผู้ชำระบัญชี อันเป็นมูลฟ้อง
จึงพิพากษายืน