คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10493/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการปฏิบัติตามข้อยกเว้นให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังกล่าวมิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือ โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องดังที่กล่าวข้างต้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และให้ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งสามแก้ จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งสามแก้ ถือว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติตามข้อยกเว้นให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังกล่าวมิได้มีบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องดังที่กล่าวข้างต้น ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และให้ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งสามแก้ จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share