แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 2 และ ฉ. จะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แล้ว ก็หาทำให้สิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ อ. ที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากบุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ของ อ. สิ้นไปแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิไว้ เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย หนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจาก อ. ก็ตกเป็นสิทธิของทายาทของ อ. รวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกองมรดกจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กลับกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก หากทายาทไม่มีอำนาจฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของนายเอื้อม ซึ่งถึงแก่ความตายวันที่ 12 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากนายเอื้อม 1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท กำหนดชำระเงินคืนวันที่ 28 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่นายเอื้อมตลอดมา หลังจากนายเอื้อมถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองไม่ชำระดอกเบี้ยและไม่ชำระเงินคืนเมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยทั้งสองยังคงเป็นหนี้นายเอื้อมคิดเป็นต้นเงิน 1,500,000 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลา 7 ปี แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงินดอกเบี้ย 562,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 2,062,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเพื่อกองมรดกของนายเอื้อม 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตามสัญญา 150,000 บาท หักออกจากเงินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 เป็นลูกของนายเอื้อมกับนางปราณี จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 วันที่ 28 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากนายเอื้อม 1,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาทต่อปี กำหนดชำระเงินคืนวันที่ 28 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 รับเงินไปแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยบางส่วน นายเอื้อมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 2 และนายฉัตรทองเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอื้อมหลังจากนายเอื้อมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 มิได้ชำระดอกเบี้ยอีก
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 และนายฉัตรทองจะเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอื้อมแล้ว ก็หาทำให้สิทธิของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเอื้อมที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากบุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ของนายเอื้อมสิ้นไปแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามหรือตัดสิทธิไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายเอื้อมถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย หนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากนายเอื้อมก็ตกเป็นสิทธิของทายาทของนายเอื้อมรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วยเช่นกัน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกองมรดกจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 กลับกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก หากทายาทไม่มีอำนาจฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดก คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากนายเอื้อมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากนายเอื้อมแล้ว การที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่ามิได้เป็นการกู้ยืมเงิน แต่นายเอื้อมยกเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นนี้แทนโจทก์ทั้งสอง 5,000 บาท