คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า ฉ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคล ที่ถูกต้องระบุชื่อคู่ความว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อ ฉ. ขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับ ล. กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ มิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรง จำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า ฉ. มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินไถ่ถอนจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา
ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี การที่โจทก์นำสืบเรื่องขอไถ่ถอนจำนองว่ามีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3380 และ 26616 โดยรับเงินไปจากโจทก์ 2,000,000 บาท และให้คืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ หากไม่ไถ่ถอนหรือไม่คืนโฉนดที่ดิน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3380, 26616 โดยให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2539 ถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2558) และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษา 100 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังโดยที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันเป็นที่ยุติว่า นางสาวเฉลิม เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3380 และ 26616 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 นางสาวเฉลิมจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไว้แก่จำเลยเป็นประกันการกู้ยืมเงิน 2,000,000 บาท วันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 นางสาวเฉลิมถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวฉลวย โจทก์ เป็นผู้จัดการมรดก
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุชื่อคู่ความผิดในสาระสำคัญ คือนางสาวเฉลิม โดยนางสาวฉลวย ในฐานะผู้จัดการมรดก การบรรยายฟ้องของโจทก์ทำให้จำเลยเข้าใจว่า โจทก์คือผู้ตาย เมื่อโจทก์คือผู้ตายย่อมไม่มีสถานะบุคคลมาฟ้องคดีนี้ ที่ถูกต้องโจทก์ต้องระบุชื่อคู่ความว่า นางสาวฉลวย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวเฉลิม โจทก์ ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและไม่ใช่การบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย แต่เป็นการบรรยายฟ้องที่ผิดในสาระสำคัญทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์จะระบุชื่อโจทก์ว่า นางสาวเฉลิม ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคลและที่ถูกต้องโจทก์ต้องระบุชื่อ คู่ความว่า นางสาวฉลวย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวเฉลิม โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่านางสาวฉลวยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อนางสาวเฉลิมขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับนางสาวฉลวย กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิ โดยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ มิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งประเด็นที่โจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองก็อยู่ในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า ปัญหาในเรื่องที่โจทก์มีเจตนาไถ่ถอนจำนองหรือไม่ มิใช่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรงจำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์ที่ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เพราะโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะขอไถ่ถอนจำนองอันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า นางสาวเฉลิม มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ 2,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวคือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ชำระแก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ประเด็นเรื่องดอกเบี้ยศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นไว้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2539 ถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2558) และศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2539 จนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จแก่จำเลยจึงไม่ถูกต้อง หากโจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปก็เป็นเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น เห็นว่า สัญญาจำนอง มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ย ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี เมื่อทางนำสืบของโจทก์ นายชรัตน์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า ในการขอไถ่ถอนจำนองพยานมีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share