แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องร้องว่า การที่จำเลยไปทำนิติกรรมกู้ยืมเงินโจทก์ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย และมิได้ให้สัตยาบันรับรองการกู้ยืมรายนี้ และผู้ร้องได้บอกล้างนิติกรรมรายนี้แล้ว ผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างเลยว่าหนี้รายนี้ไม่ใช่หนี้ร่วม และที่โจทก์ให้การคัดค้าน โจทก์ก็ไม่ได้แย้งหรือกล่าวแก้ว่าผู้ร้องได้ร่วมรู้เห็นในการกู้ยืมรายนี้ หรือกล่าวแก้ว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วมที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมด้วย ดังนั้น หนี้รายนี้จะเป็นหนี้ร่วมหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายหาได้ยกขึ้นมาเป็นข้อกล่าวอ้างหรือเป็นข้อต่อสู้แต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัย
ผู้ร้องอ้างว่า หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้ร้องมิได้รู้เห็นและไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองการกู้ยืม โจทก์ก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือคัดค้านว่าผู้ร้องได้รู้เห็นยินยอมด้วย โจทก์เป็นแต่อ้างว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์ที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้ร้องมีแต่สิทธิที่จะขอกันส่วนของตน จึงต้องฟังว่าหนี้รายนี้ผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยตามที่ผู้ร้องอ้างนั้น เพราะโจทก์มิได้ปฏิเสธข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
นิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนิติกรรมที่เกี่ยวกับหนี้เงิน มิใช่นิติกรรมที่จำเลยทำขึ้นผูกพันสินบริคณห์โดยเฉพาะ เพราะไม่ได้เป็นนิติกรรมในการจัดการหรือจำหน่ายสินบริคณห์ จึงไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 และมาตรา 138 แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นสามีจะได้บอกล้างแล้ว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 37 และมาตรา 1479 โดยเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับเอาชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายภริยาผู้ก่อหนี้นั้นก่อนได้ เมื่อไม่พอก็เอาชำระหนี้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของฝ่ายภริยาต่อไปอีกได้
โจทก์ยึดสินบริคณห์คือสินสมรสส่วนของจำเลย ผู้ร้องซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมหามีอำนาจร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ไม่ คงมีแต่สิทธิร้องขอแบ่งแยกส่วนของตนออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1483 (อ้างฎีกาที่ 541/2509)
ย่อยาว
จำเลยแพ้คดีไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์จึงนำยึดทรัพย์จำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง จำเลยไม่เกี่ยวข้อง จำเลยเป็นภรรยาโจทก์ ไปทำนิติกรรมกู้เงินโจทก์ ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นและมิได้ให้สัตยาบันรับรองการกู้ยืม ผู้ร้องได้บอกล้างนิติกรรมการกู้ยืมรายนี้แล้ว ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์คัดค้านว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดมิใช่เป็นของผู้ร้องฝ่ายเดียวแต่จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย โดยเป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องได้มาด้วยกัน ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะคัดค้านนอกจากจะขอให้กันส่วนของตนไว้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษาว่า ทรัพย์ที่ยึดมาบิดายกให้ผู้ร้องเป็นสินเดิม จึงเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๒ แม้โจทก์จะได้รับการบอกล้างนิติกรรมสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้กับโจทก์จากผู้ร้องแล้วก็ตามแต่ผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างว่าหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นนั้นมิใช่เป็นหนี้ร่วม จึงต้องถือว่าเป็นหนี้ร่วมซึ่งจะต้องใช้จากสินบริคณห์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างว่าหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยไม่ใช่หนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๒ โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์ซึ่งเป็นสินบริคณห์มาบังคับชำระหนี้ได้ตามมาตรา ๑๔๘๐
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องอ้างในคำร้องว่าหนี้รายนี้ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นและมิได้ให้สัตยาบันทั้งบอกล้างนิติกรรมแล้วเท่ากับปฏิเสธว่า ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลย ในหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นเป็นส่วนตัว โจทก์เองก็ไม่ได้ว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วมซึ่งผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลย เป็นแต่ให้การว่าผู้ร้องมีแต่สิทธิขอกันส่วน ๆ ของตนในฐานะเป็นสินสมรสเท่ากับรับว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ส่วนตัว ดังนั้น จึงต้องฟังว่าหนี้รายนี้มิใช่หนี้ร่วมซึ่งผู้ร้องไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลย และเมื่อฟังว่าหนี้รายนี้ไม่ใช่หนี้ร่วม แต่เป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นเป็นส่วนตัว โดยผู้ร้องมิได้อนุญาตและไม่ได้มีส่วนรู้เห็นทั้งได้บอกล้างนิติกรรมการกู้รายนี้แล้วด้วย นิติกรรมรายนี้จึงไม่ผูกพันสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘ และทรัพย์รายนี้เป็นสินสมรสหรือสินเดิมตามที่โจทก์และผู้ร้องโต้เถียงกันอยู่ก็ดี แต่ก็เป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๒ อยู่นันเอง และตามมาตรา ๓๘ โจทก์จะยึดทรัพย์รายนี้มาใช้หนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ผูกพันสินบริคณห์หาได้ไม่ โจทก์จะต้องร้องขอให้แบ่งสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยก่อน เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามมาตรา ๑๔๘๓ คดีไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดทรัพย์ตามที่ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องร้องว่า การที่จำเลยไปทำนิติกรรมกู้ยืมเงินโจทก์ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย และมิได้สัตยาบันรับรองการกู้ยืมรายนี้ และผู้ร้องได้บอกล้างนิติกรรมรายนี้แล้ว ผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างเลยว่าหนี้รายนี้ไม่ใช่หนี้ร่วม และที่โจทก์ให้การคัดค้านโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือกล่าวแก้ว่าผู้ร้องได้ร่วมรู้เห็นในการกู้ยืมรายนี้ หรือกล่าวแก้ว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วมที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมด้วย ดังนั้น หนี้รายนี้จะเป็นหนี้ร่วมหรือไม่ทั้งสองฝ่ายหาได้ยกขึ้นมาเป็นข้อกล่าวอ้างหรือเป็นข้อต่อสู้แต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัย
ผู้ร้องอ้างว่า หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้ร้องมิได้รู้เห็นและไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองการกู้ยืม โจทก์ก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือคัดค้านว่าผู้ร้องได้รู้เห็นยินยอมด้วย โจทก์เป็นแต่อ้างว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์ที่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้ร้องมีแต่สิทธิที่จะขอกันส่วนของตน จึงต้องฟังว่าหนี้รายนี้ผู้ร้องมิไดรู้เห็นยินยอมด้วยตามที่ผู้ร้องอ้างนั้น เพราะโจทก์มิได้ปฏิเสธข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
นิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนิติกรรมที่เกี่ยวกับหนี้เงินมิใช่นิติกรรมที่จำเลยทำขึ้นผูกพันสินบริคณห์โดยเฉพาะ เพราะไม่ได้เป็นนิติกรรมในการจัดการหรือจำหน่ายสินบริคณห์ จึงไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๑๓๘ แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นสามีจะได้บอกล้างแล้ว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๑๔๗๙ โดยเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับเอาชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายภริยาผู้ก่อหนี้นั้นก่อนได้ เมื่อไม่พอก็เอาชำระหนี้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของฝ่ายภริยาต่อไปอีกได้
โจทก์ยึดสินบริคณห์คือสินสมรสส่วนของจำเลย ผู้ร้องซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมหามีอำนาจร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ ไม่คงมีแต่สิทธิร้องขอแบ่งแยกส่วนของตนออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๓ และเมื่อโจทก์กับผู้ร้องยังโต้เถียงกันอยู่ว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินเดิมหรือสินสมรส จึงต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไปก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินเดิมหรือสินสมรส แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ