คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิใช่ผู้ถูกทำละเมิด หากเป็นเพียงนายจ้างของผู้ถูกทำละเมิด เป็นบุคคลภายนอก ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ต้องมีกฎหมายรับรองสิทธิของโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง (ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ ค่าทดแทน และค่าชดเชย) ของผู้ถูกทำละเมิด เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างตามคำสั่งของแรงงานจังหวัด ผูกพันตามกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นคนละเรื่องกับค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์กรณีที่ต้องขาดแรงงานในมูลละเมิด
ตามฟ้องของโจทก์ได้ความแล้วว่า โจทก์เป็นนายจ้างของลูกจ้างที่ได้รับอันตรายถึงตายและบาดเจ็บเพราะการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ต้องขาดแรงงานระหว่างลูกจ้างบาดเจ็บต้องจ่ายเงินเดือนระหว่างลูกจ้างปฏิบัติงานไม่ได้ โรงงานต้องหยุดกิจการเพราะขาดแรงงาน ถือได้ว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนายจ้างของผู้มีชื่อท้ายฟ้อง จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๔ ได้ขับรถโดยประมาทชนกันทำให้ลูกจ้างของโจทก์หลายคนได้รับอันตรายถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างโจทก์ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
จำเลยทั้ง ๔ ให้การต่อสู้คดี ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ และที่ ๔
โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตกลงขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องได้หรือไม่เพียงใด โดยทั้งสองฝ่ายไม่สืบพยาน โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยอมรับว่าทำละเมิดต่อคนงานของโจทก์จริงตามฟ้อง โจทก์จ่ายเงินให้ผู้บาดเจ็บและตายตามฟ้องข้อ ๔ (๑) ถึง (๖) จริง และโจทก์รับว่าจ่ายตามกฎหมายแรงงาน เฉพาะข้อ ๔ (๕) (๖) เป็นกรณีลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้โจทก์ โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายให้แก่ผู้ตายและผู้บาดเจ็บที่ปรากฏชื่อตามฟ้องแล้วจริง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ๔ (๑) ถึง (๔) โจทก์จ่ายไปตามคำสั่งของแรงงานจังหวัด ไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ๔ (๕) (๖) พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องข้อ ๔ (๕) (๖) เป็นเงิน ๒๙,๕๑๒ บาทให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รับผิดเต็มตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิใช่ผู้ถูกระทำละเมิดโดยตรง โจทก์เป็นเพียงนายจ้างของผู้ถูกกระทำละเมิด โจทก์เป็นบุคคลภายนอก ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอากับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้จะต้องมีกฎหมายรับรองสิทธิของโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องข้อ ๔ (๑) ถึง (๔) เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้กับลูกจ้างตามคำสั่งของแรงงานจังหวัดภูเก็ต ผูกพันกันตามกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่า ตามฟ้องข้อ ๔ (๕) (๖) โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ เกี่ยวด้วยละเมิด ไม่ชอบที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะต้องจ่ายให้โจทก์ ที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างไปโดยข้อผูกพันกันตามกฎหมายแรงงาน ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องของโจทก์ก็ได้ความแล้วว่าโจทก์เป็นนายจ้างของลูกจ้างที่ได้รับอันตรายถึงตายและบาดเจ็บ เพราะการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โจทก์ต้องขาดแรงงานระหว่างลูกจ้างบาดเจ็บ ต้องจ่ายเงินเดือนระหว่างลูกจ้างปฏิบัติงานไม่ได้ โรงงานต้องหยุดกิจการเพราะแรงงานตามฟ้องข้อ ๔ (๕) (๖) ถือได้ว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ ด้วยแล้ว จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงต้องรับผิดตามฟ้องข้อ ๔ (๕) (๖)
พิพากษายืน

Share