คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์ให้ ว. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย ล.2 ไว้ ว. ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้จำเลยรับผิดแทน ว. โดยฉวยโอกาสที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แต่จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องแปลงหนี้ใหม่ไว้ในคำให้การ ปัญหาข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ที่ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ จึงไม่ชอบ เมื่อจำเลยฎีกา ทำนองเดียวกับที่อุทธรณ์ขึ้นมาอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์หลายรายการ จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระค้าสินค้าบางส่วนเป็นเงินจำนวน ๔๕,๗๓๘.๖๘ บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕๑,๑๖๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๔๕,๗๓๘ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ โจทก์จัดส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ ๑ ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ จึงแจ้งให้โจทก์มารับสินค้ากลับคืนไป หลังจากนั้นโจทก์ตรวจสอบพบว่านายวิโรจน์ บุญคง เอาสินค้าที่โจทก์จัดส่งให้แก่จำเลยที่ ๑ ไปบางส่วน คิดเป็นเงิน ๔๕,๗๓๘.๖๘ บาท โจทก์ได้ให้นายวิโรจน์ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ แต่ต่อมานายวิโรจน์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้องให้จำเลยจำเลยทั้งสองรับผิดแทนนายวิโรจน์ ทั้งที่จำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีนี้ มาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๕,๗๓๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๕,๔๓๑ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า จำเลยทั้งสองยกปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย ล.๒ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ขึ้นอุทธรณ์และฎีกา แต่จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า โจทก์ให้นายวิโรจน์ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย ล.๒ ไว้ นายวิโรจน์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีให้จำเลยทั้งสองรับผิดแทนนายวิโรจน์ โดยฉวยโอกาสที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเท่านั้น จำเลยทั้งสอง มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องแปลงหนี้ใหม่ต่อสู้ไว้ในคำให้การ ดังนั้นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ รับวินิจฉัยให้ จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาทำนองเดียวกับที่อุทธรณ์ขึ้นมาอีก จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ และยกฎีกาจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ .

Share