คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องที่มิได้กล่าวหาว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดด้วย จึงลงโทษไม่ได้
จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้จำเลยที่ 2 ก็ได้ยืมเงินและมอบเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้ แม้โจทก์ร่วมรับเช็คไว้โดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินในบัญชี ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นเป็นใจกระทำผิดกับจำเลยอันจะถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินยังไม่เกิดจนกว่าจะขอรับเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นอกจากนี้โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ตกลงกันขณะออกเช็คว่า จะบังคับการจ่ายเงินต่อเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันออกเช็ค จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินจนกว่าจะพ้น 1 เดือน แต่เมื่อพ้น 1 เดือน จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระเงินตามเช็คและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าปิดบัญชีจำเลยที่ 1 แล้ว จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยในขณะออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ ออกเช็คของธนาคารกรุงเทพ ฯ หมายเลข ๘.๑-๑๐๒๘๙๓๕ สั่งจ่ายเงิน ๑๔๕,๐๐๐ บาท มอบให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ได้มอบให้นางเยาวเรศเพื่อชำระหนี้ ต่อมาวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๐๔ ได้ขอรับเงินที่ธนาคาร ๆ ปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะบัญชีของจำเลยที่ ๑ ปิดแล้ว โดยจำเลยที่ ๑ มีเจตนาทุกจริตออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โดยในขณะออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ กับจำเลยทั้งสองสมคบร่วมกันฉ้อโกงนางเยาวเรศ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑,๘๓
นางเยาวเรศขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่น เฉพาะคดีนี้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำคุกคนละ ๑ ปี ข้อหาฉ้อโกงให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองคนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องโจทก์มิได้กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๒ ได้สมคบร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการออกเช็คด้วย คดีไม่มีทางลงโทษจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงิน
สำหรับจำเลยที่ ๑ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ได้ออกเช็คให้จำเลยที่ ๒ ไปยืมเงินโจทก์ร่วมจริง และในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จำเลยที่ ๒ ได้ยืมเงินโจทก์ร่วม ๑๔๕,๐๐๐ บาท มอบเช็ค จ.๒ ลงวันดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๐๔ โจทก์ร่วมได้นำเช็ค จ.๒ ไปขอรับเงินต่อธนาคาร ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน เพราะได้ปิดบัญชีของจำเลยที่ ๑ แล้ว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมรับเช็ค จ.๒ ไว้โดยรู้ว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชี ก็ถือไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจกระทำผิดกับจำเลย อันจะทำให้ถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะในวันออกเช็ค ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คยังไม่เกิด จนกว่าโจทก์ร่วมจะได้นำเช็คไปขอรับเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นอกจากนี้ยังได้ความว่า โจทก์ร่วมและจำเลยที่ ๒ ตกลงกันขณะออกเช็ค จ.๒ ว่า จะบังคับการจ่ายเงินตามเช็คได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลา ๑ เดือน นับแต่วันออกเช็ค คือ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ออกเช็ค จ.๒ โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงิน จนกว่าจะพ้นเวลา ๑ เดือน แต่เมื่อพ้น ๑ เดือนตามที่ตกลงกัน จำเลยที่ ๑ มิได้นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อชำระเงินตามเช็ค จ.๒ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าปิดบัญชีจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ออกเช็ค หมาย จ.๒ โดยในขณะออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ ตามศาลชั้นต้น นอกนั้นยืน

Share