คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าของรถยนต์ตกลงกันในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีหลังเกิดเหตุรถยนต์ชนกันว่า ” เจ้าของรถต่างไม่ติดใจค่าเสียหายจะนำไปซ่อมเอง เพราะมีประกันภัยไว้” แสดงว่าเจ้าของรถยังมีความประสงค์ที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง จึงไม่เป็นข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่เสียหายได้รถยนต์คันดังกล่าวอันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิผู้เสียหายในอันที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียนช.บ.48063 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน บ.ร.03176 จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย นายบุรี สวัสดีลูกจ้างของนายสุวัฒน์ งามเกียรติทรัพย์ เจ้าของรถบรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียนช.บ. 48063 ได้ขับขี่รถยนต์บรรทุก 10 ล้อ คันดังกล่าวไปจอดติดสัญญาณไฟแดงที่สี่แยกบายพาส อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้มีรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียนบ.ร.03176 ขับมาด้วยความเร็วสูงโดยปราศจากความระมัดระวังและชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ม. – 6637 กรุงเทพมหานครซึ่งกำลังเลี้ยวขวา กระเด็นไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ช.บ.48063 ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ได้ซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวสิ้นเงินไป 2,500 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ.ร.03176และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ.ร.03176 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,500 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ม. – 6637 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดความเสียหายของรถตามฟ้องไม่เกิน 1,000 บาท ในชั้นสอบสวน นายสุวัฒน์ งามเกียรติทรัพย์ เจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ.48063 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ.ร.03176ว่าต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน จะนำรถไปซ่อมเอง สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในคดีนี้จึงเป็นอันระงับไป โจทก์ไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.5 ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือตัวแทนได้ลงชื่อร่วมตกลงด้วยจึงไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิการรับช่วงสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องพิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5ที่เจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ม.6637 กรุงเทพมหานคร เจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ.ร.03176 และเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ.48063 ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้ตกลงกันว่า “เจ้าของรถต่างไม่ติดใจค่าเสียหาย จะนำไปซ่อมเองเพราะมีประกันภัยไว้” เห็นว่าการที่เจ้าของรถตกลงกันดังกล่าวเพราะเหตุที่รถมีประกันภัย แสดงว่าเจ้าของรถยังคงมีความประสงค์ที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่รถของตนได้รับ โดยให้ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ เพียงแต่เจ้าของรถไม่ต้องดำเนินการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเองเท่านั้น จึงไม่เป็นข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ตามลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง และไม่ใช่การสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนตัวผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าของรถสละสิทธิเรียกร้องในการที่จะให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมรถคันหมายเลขทะเบียน ช.บ.48063 อันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยไม่ทราบถึงข้อตกลงที่ผู้เอาประกันภัยได้ตกลงไว้กับจำเลยจึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสุจริต ไม่ทำให้การรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยต้องเสียไป โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชดใช้ไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share