คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 ป.บุตรโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เนื่องจาก พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 3 ให้ยกเลิกข้อ 2 (6) และข้อ 3 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งเกี่ยวกับเงินทดแทน
การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าลักษณะงานที่จำเลยจ้าง ป.ทำในคดีนี้เป็นงานเกษตรกรรมที่มิได้จ้าง ป.ให้ทำงานตลอดปีและไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วยกรณีจึงมิได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม เมื่อเป็นการนำกฎหมายในส่วนที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาบังคับ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานดังกล่าวย่อมไม่ชอบ ข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เมื่อปัญหาว่าจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ เรื่องเงินทดแทน เพราะจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วหรือไม่เสียก่อนเมื่อศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวมา จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31,56 วรรคสอง

Share