คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อน ก. เป็นผู้ร้องขอจัดการมรดก จำเลยในคดีนี้เป็นผู้คัดค้าน แม้คดีทั้งสองจะมีประเด็นวินิจฉัยเดียวกันว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ แต่โจทก์ในคดีนี้เป็นคนละคนกับผู้ร้องในคดีก่อน ฉะนั้นโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่คู่ความในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ให้แก่นางดวงแข ศิวะเกื้อ และโจทก์กับพวกทั้งได้แต่งตั้งให้โจทก์ นางดวงแข ศิวะเกื้อ และนายเกรียงวิศิษฎ์สรอรรถ เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ปรากฏตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ ถึงแก่กรรม ในขณะที่หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ ถึงแก่กรรม ในขณะที่หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ กำลังป่วยหนักและมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์จำเลยและนายศุภโรจน์ ศิวะเกื้อ กับพวกได้ร่วมกันฉ้อฉลหลอกลวงขู่เข็ญและบังคับให้หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ พิมพ์ลายนิ้วมือในกระดาษเปล่าซึ่งยังไม่มีข้อความใด ๆ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมพินัยกรรม โดยกรอกข้อความในกระดาษซึ่งหม่อมหลวงเจริญศิวะเกื้อ พิมพ์ลายนิ้วมือไว้เป็นพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25ธันวาคม 2527 เมื่อนายเกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของหม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 732/2528 ของศาลชั้นต้นจำเลยก็ได้ยื่นคำคัดค้านไว้ โจทก์จึงต้องดำเนินเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2527 หรือเอกสารหมายค.1 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 732/2528 ของศาลชั้นต้นเป็นพินัยกรรมปลอมโมฆะเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ ให้เพิกถอนเสีย
จำเลยให้การ หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ ไม่ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง จำเลยกับพวกมิได้ร่วมกันปลอมพินัยกรรมพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2527 หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ ทำขึ้นในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นพินัยกรรมฉบับที่ชอบด้วยกฎหมายคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 732/2528 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่เป็นพินัยกรรมปลอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8104/2529 ของศาลชั้นต้นฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม2527 ตามเอกสารหมาย จ.6 หรือเอกสารหมาย ค.1 ในคดีหมายเลขแดงที่8104/2529 ของศาลชั้นต้นเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ตามกฎหมายให้เพิกถอนเสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 8104/2529 ของศาลชั้นต้นเพราะคู่ความทั้งสองคดี เป็นคู่ความเดียวกันและประเด็นสำคัญที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทก็เป็นประเด็นเดียวกันและคดีหมายเลขแดงดังกล่าว ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำขึ้นตามเจตนาของเจ้ามรดก มิใช่เอกสารปลอมตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3911/2534 ดังปรากฏตามคำแถลงของจำเลยลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2535 นั้น เห็นว่า คดีก่อนนายเกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ เป็นผู้ร้องขอจัดการมรดก จำเลยในคดีนี้เป็นผู้คัดค้าน แม้คดีทั้งสองมีประเด็นวินิจฉัยเดียวกันว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ แต่โจทก์ในคดีนี้เป็นคนละคนกับผู้ร้องในคดีก่อน ฉะนั้นโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่คู่ความในคดีก่อนฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทเอกสารหมาย จ.6 ปลอมหรือไม่ จำเลยมีตัวจำเลยนายศุภโรจน์ ศิวะเกื้อ นางสาวกรรณิกา สามพี่น้อง และนายแพทย์นพดล สวัณตรัจฉ์ เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า เจ้ามรดกประสงค์จะทำพินัยกรรมได้มีพยานจำเลยดังกล่าวมาร่วมรู้เห็นเป็นพยานในการทำพินัยกรรมโดยนายศุภโรจน์ เป็นผู้เขียนพินัยกรรมแล้วเจ้ามรดกใช้หัวแม่มือซ้ายพิมพ์ลายนิ้วมือลงในพินัยกรรมด้วยตนเองประจักษ์พยานทุกคนเว้นแต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกและเป็นพยานในพินัยกรรม เห็นว่า ประจักษ์พยานจำเลยทุกปากซึ่งลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกและเป็นพยานในพินัยกรรมได้เบิกความสอดคล้องต้องกัน พยานทุกปากยืนยันว่าขณะทำพินัยกรรมแม้เจ้ามรดกป่วยหนักมีอาการมือสั่น แต่ก็มีสติสัมปชัญญะดีโดยเฉพาะนายแพทย์นพดลเบิกความว่า นายพูลสวัสดิ์ มูลศาสตรสาทร ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยคนหนึ่งได้ขอให้นายแพทย์นพดลตรวจร่างกายเจ้ามรดกก่อนทำพินัยกรรมนายแพทย์นพดลได้ตรวจและสอบถามแล้วปรากฏว่าเจ้ามรดกสามารถจำและตอบคำถามได้ มีอาการมือสั่นเป็นบางครั้งบางคราว พูดจารู้เรื่องดี ทุกอย่าง เจ้ามรดกสามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้ด้วยตนเองขณะที่เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมนั้นมือไม่สั่น ซึ่งแสดงว่าขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะดีพิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมได้ด้วยตนเอง ประกอบกับหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ซึ่งนายเกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ ทนายโจทก์และเป็นพยานโจทก์นำไปให้เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือก่อนทำพินัยกรรมฉบับพิพาท 7 วัน มีข้อความตามที่นายเกรียงบันทึกรับรองไว้ด้านหลังเอกสารว่าเจ้ามรดกได้พิมพ์ลายนิ้วมือมอบอำนาจต่อหน้านายเกรียงโดยมีสติสมบูรณ์ดีโดยนายเกรียงได้มาเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้บันทึกรับรองข้อความดังกล่าวจริงก็เจือสมคำพยานจำเลย ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ขณะทำพินัยกรรมฉบับพิพาท เจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะดี และได้พิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมด้วยตนเองนอกจากนี้ยังได้ความจากข้อนำสืบรับกันของโจทก์จำเลยว่า ก่อนทำพินัยกรรมฉบับพิพาท เจ้ามรดกบอกให้จำเลยและนายศุภโรจน์แจ้งให้นายเกรียงทราบ จำเลยและนายศุภโรจน์ได้โทรศัพท์แจ้งให้นายเกรียงทราบว่าเจ้ามรดกประสงค์จะทำพินัยกรรมให้นายเกรียงไปที่บ้านจำเลย แต่นายเกรียงไม่รับรู้และไม่ยอมไป ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้ามรดกประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมฉบับใหม่จริง และมีเจตนาที่จะทำโดยเปิดเผย จึงได้แจ้งให้นายเกรียงทราบ หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกับพวกคบคิดกันทำพินัยกรรมปลอมโดยจำเลยกับพวกได้ให้เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือลงในกระดาษเปล่า ในขณะที่เจ้ามรดกนอนหลับหรือหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วนำมากรอกข้อความลงไปในภายหลังตามที่โจทก์อ้างไม่ ที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงบางประการแตกต่างกันไปบ้าง เช่น นำสืบว่าตามพินัยกรรมฉบับพิพาท เจ้ามรดกยกทรัพย์สินให้จำเลยและนายสดมภ์บุตรนางดวงแข แต่ในเทปบันทึกเสียงเจ้ามรดกพูดยกให้จำเลยผู้เดียวนั้นก็เป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด ไม่ได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ คดีจึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับพิพาทด้วยความสมัครใจ พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงไม่ใช่พินัยกรรมปลอม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทปลอมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share