คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่มีอุทธรณ์การประเมินภาษีโรงเรือนนั้น เมื่อมีการชี้ขาดจำนวนเงินลดลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมแล้วก็ต้องถือจำนวนเงินประเมินตามคำชี้ขาดนั้นส่วนจำนวนเงินประเมินเดิมเป็นอันหมดไป ฉะนั้นเมื่อจะมีการเรียกเอาค่าภาษีเพิ่ม เพราะผู้รับประเมินเอาเงินค่าภาษีมาชำระช้ากว่ากำหนดนั้น ก็ต้องคิดเพิ่มเอาจากอัตราที่ชี้ขาดมาใหม่นั้น จะคิดเอาจากอัตราจำนวนเงินประเมินเดิมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเสียภาษีโรงเรือนสำหรับเรือนเลขที่ ๒๙๑,๒๙๓ ตำบลสีลม อำเภอบางรักษ์ จังหวัดพระนคร ปีละ ๗๕ บาท สำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๐ เจ้าพนักงานประเมิน ๗๘๗.๕๐ บาทโจทก์ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพาพร ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๑ โจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดของนายกเทศมนตรีว่า คณะเทศมนตรีชี้ขาดให้ประเมิน ๗๕ บาทโจทก์ไปชำระ เจ้าพนักงานไม่ยอมรับ ต่อมาวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๒ กองผลประโยชน์เทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้มีหนังสือที่ ๓๑๓/๒๔๙๒ เตือนให้โจทก์ชำระเงิน ๗๘๗.๕๐ บาท กับค่าภาษีเพิ่มจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับเงิน ๗๕ บาท
จำเลยให้การว่า ในการอุทธรณ์โจทก์มิได้นำเงิน ๗๘๗.๕๐ บาทมาเสียแก่เจ้าหน้าที่ภายในกำหนด ๙๐ วันตามกฎหมาย ซึ่งถ้าได้ชำระไว้ โจทก์จะได้คืน ๗๑๒๕.๕๐ บาท แต่เมื่อโจทก์ไม่ชำระก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก ๗๘.๗๕ บาท รวมเป็นเงิน ๘๖๖.๒๕ บาท แต่ตามที่ทางการพิจารณาอุทธรณ์ยอมชี้ขาดตามโจทก์อุทธรณ์ โจทก์ก็ต้องเสียภาษีแก่เทศบาลพร้อมค่าปรับก่อนแล้ว ทางการจึงจะคืนให้ ๗๑๒.๕๐ บาท เท่ากับโจทก์ชำระ ๗๕ บาท บวกค่าภาษีเพิ่มอีก ๗๘.๗๕ บาท เมื่อชำระเพียง ๗๕ บาท ภายหลัง ๙๐ วันนับแต่ประเมินคราวแรกจำเลยจึงมีสิทธิบอกปัดไม่รับชำระ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน แล้วพิพากษาว่า การอุทธรณ์การประเมินไม่เป็นการทุเลาการชำระ ให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย อ้างฎีกาที่ ๗๔๘/๒๔๗๙
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ไม่เหมือนกับคดีที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาโดยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๘/๒๔๗๙ เพราะในคดีนี้เจ้าพนักงานไม่ยอมรับเงินจำนวนที่อุทธรณ์ตกลงมาให้ประเมินและกลับเรียกเก็บเพิ่มตามยอดที่ประเมินไว้เดิม หาได้เรียกเพิ่มตามยอดที่อุทธรณ์ตกลงมาไม่
ตามพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓๐ นั้นเมื่อมีการชี้ขาดในกรณีอุทธรณ์มาแล้ว ก็ต้องถือเอาจำนวนเงินประเมินตามคำชี้ขาดนั้น ส่วนจำนวนประเมินเดิมเป็นอันหมดไป จำเลยจะคงถือเอาจำนวนเงินประเมินเดิมทั้งที่มีอุทธรณ์สั่งแก้ลงมาแล้วมาปรับโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะจำนวนเดิมนั้นหมดไปแล้ว จะกลับไปบังคับเงินเพิ่มจากโจทก์ในอัตราจำนวนประเมินเดิม ซึ่งหมดไปแล้วได้อย่างไร ฉะนั้นเหตุที่จำเลยอ้างเพื่อไม่รับชำระเงินค่าภาษีของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น โจทก์ต้องเป็นฝ่ายชนะ
จึงพิพากษากลับ ให้จำเลยรับเงินค่าภาษี ๗๕ บาทจากโจทก์

Share