คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดโจทก์ผู้ทรงมิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อให้ใช้เงินตามตั๋ว เพียงแต่มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามวิธีการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 985 ประกอบด้วยมาตรา 941 บังคับไว้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดคำมั่นไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยและจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วก็เป็นเรื่องโจทก์ปฏิบัติการทวงถามแบบหนี้ทั่วไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 5 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์เพราะโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลนั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยที่ 5 ที่จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ดังที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง เมื่อเช็คพิพาทได้มาโดยมีมูลหนี้ จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อ ย.จนย. ได้บอกเลิกสัญญาขายหุ้นและโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทโดยทราบดีว่าสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ย. ได้เลิกกัน เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่สามารถสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดตามเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการนำตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาจะใช้เงินจำนวน 1,784,942 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 15 มกราคม 2528 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้อาวัล มาขายลดแก่โจทก์ ในการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มอบตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ฉบับ ที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกตั๋ว สัญญาจะใช้เงินจำนวน 1,784,942 บาท แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 15 มกราคม 2528ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังตั๋วดังกล่าวมอบให้แก่โจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้ค่าขายลดตั๋วสัญญาใชเ้งิน ที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดแก่โจทก์กับมอบเช็ค 1 ฉบับที่จำเลยที่ 5 เป็นผู้สั่งจ่ายเงินจำนวน1,784,942 บาทแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือ ลงวันที่สั่งจ่าย 15 มกราคม2528 มอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวจำเลยที่ 6 ทำสัญญา ค้ำประกันหนี้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดแก่โจทก์นั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ชำระเงินตามตั๋วโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 4 ให้ชำระเงินตามตั๋วที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกนั้นแล้ว จำเลยที่ 4 ไม่ชำระโจทก์นำ เช็คที่จำเลยที่ 5 เป็นผู้ออกไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2528 จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อาวัล จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2528 จำเลยที่ 5 ต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 5 เป็นผู้ออกพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 มรกาคม 2528 จำเลยที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันตามที่ตกลงไว้ในสัญญาพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2528ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ให้การว่า วันที่ 14 มิถุนายน 2527 นายยุทธนาสันติกุล ซื้อหุ้นของบริษัทพิงนครการเกษตร จำกัด จากจำเลยที่ 2จำนวน 1,000 หุ้น ในราคา 10,000,000 บาท ชำระราคาเป็นเงินสดในวันทำสัญญา 1,000,000 บาท ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 5,000,000 บาท นอกนั้นชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 6 ฉบับ กับมอบเช็คค้ำประกันอีก 6 ฉบับ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ผิดสัญญาไม่สามารถโอนหุ้นให้แก่นายยุทธนาผู้ซื้อได้ครบ คงโอนให้ได้เพียง 400 หุ้น ผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2จะต้องคืนตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คดังกล่าวแก่ผู้ซื้อ แต่จำเลยที่ 2เจตนาทุจริตสมคบกับโจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 4 ที่ 5 และผู้ซื้อโดยโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คพิพาทที่ผู้ซื้อมอบแก่จำเลยที่ 2 ไว้ให้แก่โจทก์โดยไม่ได้มีการจ่ายเงินตอบแทนใด ๆ ต่อกันและโจทก์ทราบถึงการเลิกสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากจำเลยที่ 4เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมิได้ตกลงดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์มิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลยที่ 4 ตามวันเวลาสถานที่ที่ระบุไว้ในตั๋ว จำเลยที่ 4 จึงไม่ได้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน 1,873,700บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปี จากต้นเงิน 1,784,942 บาทจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดจำนวน 1,918,445.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 1,784,942 บาท และจำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน 1, 174,041.10 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นคือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับรับเงิน โดยตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นต้องมีการระบุรายการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 983 โดยเฉพาะวันถึงกำหนดใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน และถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ก็ให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงินตามมาตรา 984 นอกจากนั้นมาตรา 985 ยังบัญญัติให้นำบทบัญญัติของมาตรา 941 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับแก่กรณีของตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ซึ่งมาตรา 941 ได้บัญญัติว่า อันตั๋วแลกเงินนั้นย่อมจะพึงใช้เงินในวันถึงกำหนดและถึงกำหนดวันใด ผู้ทรงตั๋ว นำตั๋วเงินไปยื่นให้ใช้เงินในวันนั้นแต่ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 4 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินภายหลังจากตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นถึงกำหนดให้ใช้เงินแล้ว มิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลยที่ 4 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 4 ในวันถึงกำหนดใช้เงินเพื่อให้ใช้เงินตามตั๋ว ถือได้ว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 ประกอบด้วยมาตรา 941บังคับไว้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ผิดคำมั่นสัญญาไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วให้ก็เป็นเรื่องโจทก์ปฏิบัติการทวงถามแบบหนี้ทั่วไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4
ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชำะเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ เพราะโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลนั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยที่ 5 ที่ต้องนำสืบให้รับฟังได้ดังที่จำเลยที่ 5 อ้าง แต่ได้ความเพียงว่า นายสุรศักดิ์ ผู้จัดการของโจทก์สาขาเชียงใหม่ซึ่งรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากจำเลยที่ 1 และรับตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกและเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 5เป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น ได้ทราบที่มาหรือมูลหนี้ของตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คพิพาทคดีนี้แล้วว่า จำเลยที่ 2ได้มาตามสัญญาขายหุ้นให้นายยุทธนา เมื่อเช็คพิพาทได้มาโดยมีมูลหนี้จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ต้องนำสืบต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อนายยุทธนาจนนายยุทธนาได้บอกเลิกสัญญาแล้ว และโจทก์ได้รับโอนเช็ค ไว้โดยทราบดีว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายยุทธนาได้มีการตกลงเลิกสัญญากัน แต่จำเลยที่ 5 ไม่สามารถนำสืบได้จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 2จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดตามเช็คในฐานเป็นผู้สั่งจ่าย
พิพากษายืน.

Share