แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของสถานที่ที่จำเลยแจ้ง โจทก์ที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ที่ 1แม้จำเลยจะแจ้งถึงสถานที่ไม่ได้ระบุถึงโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่สถานที่ไม่มีสถานะเป็นบุคคลแม้จะมีบุคคลอื่นอยู่ในสถานที่ นั้นอีกหลายคน แต่หากมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่จริงโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองสถานที่จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และไม่ถือว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง จำเลยประกอบอาชีพเป็นทนายความเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมาย กระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายเสียเองแล้วไม่สำนึกผิด กลับต่อสู้คดีวกวนกล่าวโทษผู้อื่น จึงไม่สมควรกำหนดโทษ ให้เบาลงอีก แต่จำเลยกระทำไปก็โดยมุ่งหมายให้สำเร็จประโยชน์ ในงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษ จำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นที่พอใจแล้วและไม่ติดใจ เอาความกับจำเลย สมควรรอการลงโทษจำคุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวค้าของผิดกฎหมายและมีของผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง แล้วจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจ 3 นายพร้อมหมายค้น ไปตรวจค้นที่บริษัทโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 เมื่อตรวจค้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีสิ่งของใดผิดกฎหมาย ซึ่งจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จ แต่ยังนำไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ได้รับโทษทางอาญา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 172, 173การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 174 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 173 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบด้วยมาตรา 174 วรรคสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของสถานที่ที่จำเลยแจ้ง โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ที่ 1 แม้จำเลยจะแจ้งถึงสถานที่ไม่ได้ระบุถึงโจทก์ทั้งสองแต่สถานที่ไม่มีฐานะเป็นบุคคล แม้จะมีบุคคลอื่นอยู่ในสถานที่นั้นอีกหลายคน แต่หากมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่จริง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ครอบครองสถานที่จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายและไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ร้อยตำรวจโททรงยศมีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรป้องกันและปราบปราม เป็นเจ้าพนักงานจึงมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาการแจ้งความของจำเลยต่อร้อยตำรวจโททรงยศจึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นได้แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลเชื่อมโยงประกอบกันมั่นคง ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ว่า มีเหตุอันควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยประกอบอาชีพเป็นทนายความเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายเสียเองแล้วไม่สำนึกผิดกลับต่อสู้คดีวกวนกล่าวโทษผู้อื่น จึงไม่สมควรกำหนดโทษให้เบาลงอีกแต่อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงว่า จำเลยกระทำไปก็โดยมุ่งหมายให้สำเร็จประโยชน์ในงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองจนเป็นที่พอใจแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเอาความกับจำเลย จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยสักครั้งหนึ่งโดยการรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยแต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำจึงให้ลงโทษปรับด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 5,000 บาทอีกสถานหนึ่ง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์