คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10408/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งให้ ฐ. ไปทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทกับบริษัท ท. มีผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบริษัท ท. สละเจตนาครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ เมื่อโจทก์เข้ายึดถือเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดและฟ้องเรียกเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทคืนได้
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยนำไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อโดยพลการและโดยไม่มีสิทธิ แม้จำเลยที่ 3 จะสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์และต้องคืนเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ซึ่งมีสิทธิดีกว่า และโจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่คืนจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206
การที่จำเลยที่ 2 ลูกจ้าง เคลื่อนย้ายเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทออกจากสวนสนุกไปเพื่อทำสีใหม่นั้น เป็นเพราะจำเลยที่ 1 นายจ้างสั่งการ แต่จำเลยที่ 2 กลับนำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปเก็บและนำไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นด้วยก็ไม่ใช่สาระสำคัญ จำเลยที่ 1 นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ลูกจ้างต่อโจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องเล่นรถไฟพร้อมอุปกรณ์ในสภาพใช้การได้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้ใช้ค่าเสื่อมราคาในอัตราเดือนละ 25,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบเครื่องเล่นรถไฟพร้อมอุปกรณ์คืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าขาดประโยชน์อัตราเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบเครื่องเล่นรถไฟพร้อมอุปกรณ์คืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีเป็นเงิน 800,000 บาท และค่าเสียหายแก่ชื่อเสียง ความเจริญก้าวหน้าในกิจการโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและซื้ออะไหล่เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการร่วมทุนกับจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท กำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันส่งมอบเครื่องเล่นรถไฟพร้อมอุปกรณ์ที่พิพาทในสภาพใช้การได้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ชดใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี จำเลยที่ 2 และที่ 3 และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2541 บริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คัน พร้อมอุปกรณ์จากบริษัทรอยัล การ์เด้น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หลังทำสัญญาผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในเครื่องเล่นตกเป็นของผู้เช่าซื้อ วันที่ 20 มีนาคม 2542 นางสาวมธุนันท์และนายฐิติพันธ์ขอยืมเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 8 คัน พร้อมอุปกรณ์จากบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด เพื่อนำไปทำสัญญาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 ซึ่งบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด ตอบตกลง วันที่ 25 มีนาคม 2542 นางมธุนันท์และนายฐิติพันธ์ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 โดยนำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 8 คัน พร้อมอุปกรณ์ไปให้บริการลูกค้าที่สวนสนุกลีโอแลนด์ เขตบางนา กรุงเทพฯ วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 โจทก์โดยนายฐิติพันธ์ กรรมการผู้รับมอบอำนาจ ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คัน จากบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด แล้วโจทก์นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 8 คัน ซึ่งให้บริการลูกค้าตามสัญญาร่วมลงทุนเดิมมาทำสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 มีกำหนดนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2545 ระหว่างอายุสัญญาจำเลยที่ 2 ผู้จัดการสวนสนุกลีโอแลนด์ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เสนอต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ให้ปรับปรุงสีของเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ซึ่งจำเลยที่ 1 และโจทก์เห็นชอบ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทออกไปทำสี ส่วนโจทก์นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ 8 คัน ที่โจทก์ได้เช่าซื้อไว้ดังกล่าวมาให้บริการทดแทน หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้นำเครื่องเล่นรถไฟที่ทำเลียนแบบ 8 คัน มาสับเปลี่ยนกับเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ที่นำมาทดแทนดังกล่าว ในวันที่ 18 กันยายน 2542 จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ทั้ง 16 คัน ไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อ ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2543 พนักงานของโจทก์แจ้งให้นางสาวมธุนันท์ กรรมการโจทก์ทราบว่าพบเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คัน เปิดบริการในงานบริเวณหน้าสนามศาลากลางจังหวัดชลบุรี นางสาวมธุนันท์จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จากการตรวจสอบเครื่องเล่นรถไฟพิพาท 8 คัน ที่ติดตั้งให้บริการในสวนสนุกลีโอแลนด์เป็นของปลอม ส่วนเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาททั้ง 16 คัน ที่จำเลยที่ 3 เช่าซื้อเป็นของจริง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คัน พร้อมอุปกรณ์ ระหว่างบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด โดยนางสาวมธุนันท์ ผู้ให้เช่าซื้อกับโจทก์ โดยนายฐิติพันธ์ กรรมการผู้รับมอบอำนาจผู้เช่าซื้อตกเป็นโมฆะ เนื่องจากนางสาวมธุนันท์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ไม่ได้ทำหนังสือแต่งตั้งให้นายฐิติพันธ์เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคหนึ่ง และมาตรา 572 วรรคสอง โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้จึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 นั้น ขัดต่อสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นและหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์เครื่องเล่นที่ระบุว่าบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้เช่าซื้อและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาททั้ง 16 คัน ทั้งจำเลยที่ 2 เองก็ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในฐานะกรรมการคนหนึ่งของบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด แม้โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งให้นายฐิติพันธ์ไปทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทกับบริษัทไทย-แปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด มีผลให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบริษัทไทยแปซิฟิก กรุ๊ป จำกัด สละเจตนาครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ เมื่อโจทก์เข้ายึดถือเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 โจทก์มีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดและฟ้องเรียกเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทคืนได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า นางสาวมธุนันท์ กรรมการโจทก์ รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คัน พร้อมอุปกรณ์ไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังว่า นางสาวมธุนันท์ไม่รู้เห็นให้จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ต่อมาว่า จำเลยที่ 3 ต้องคืนเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คัน พร้อมอุปกรณ์ให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยนำไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อโดยพลการและโดยไม่มีสิทธิ แม้จำเลยที่ 3 จะสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงต้องคืนเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาท 16 คันพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ซึ่งมีสิทธิดีกว่า และการที่จำเลยที่ 3 รับซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยเพียงแต่สอบถามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการสวนสนุกและจำเลยที่ 2 บอกว่าเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทเป็นของตน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ขอดูหลักฐานการได้มาซึ่งเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 หรือหลักฐานการร่วมลงทุนของผู้ที่นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทมาให้บริการที่สวนสนุกลีโอแลนด์ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 3 ตัดสินใจเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่คืนจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 แต่โจทก์ขอดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 อยู่แล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ได้ความว่า ในระหว่างจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสวนสนุกลีโอแลนด์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์โดยนางสาวมธุนันท์และจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ 8 คัน ในสวนสนุกออกไปทำสีใหม่ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โจทก์จึงนำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้อีก 8 คัน มาติดตั้งทดแทนให้บริการไปพลางก่อน ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟซึ่งทำเลียนแบบมาสับเปลี่ยนกับเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทที่นำมาทดแทน แล้วจำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ 16 คัน ไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ลูกจ้าง เคลื่อนย้ายเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ 8 คัน ออกจากสวนสนุกเพื่อไปทำสีใหม่นั้น เป็นเพราะจำเลยที่ 1 นายจ้างสั่งการ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำไปทำสีกลับนำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปเก็บไว้ที่จังหวัดนครปฐม และต่อมายังนำเครื่องเล่นรถไฟที่เลียนแบบมาสับเปลี่ยนกับเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ 8 คัน ที่โจทก์นำมาให้บริการทดแทนแล้วนำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทของแท้ทั้งหมดไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นด้วยก็ไม่ใช่สาระสำคัญ จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบเครื่องเล่นรถไฟพร้อมอุปกรณ์ที่พิพาทในสภาพใช้การได้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแก่โจทก์เป็นเงิน 1,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2545) จนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share