คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “กรรมการ” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 วรรคหนึ่ง หมายถึงคณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของคณะกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1161 เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองเรียกประชุมใหญ่โดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้น การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2557 ของบริษัททูเดย์ แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2557 ของบริษัททูเดย์ แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด กับให้ผู้คัดค้านทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีการับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัททูเดย์ แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด มีกรรมการ 4 คน คือผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 กับผู้คัดค้านทั้งสองและมีผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้คัดค้านทั้งสองมีหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2557 และมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ลงมติตามวาระการประชุมที่แจ้งในหนังสือเรียกประชุม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองประการเดียวว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1172 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร” หมายถึงกรรมการของบริษัทคนหนึ่งก็สามารถเรียกประชุมใหญ่ได้ และบริษัททูเดย์ แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เคยมีการเรียกประชุมกรรมการก่อนเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทมีหนังสือเรียกประชุมดังกล่าว จึงชอบด้วยข้อบังคับและวิธีการปฏิบัติในการเรียกประชุมของบริษัท และการลงมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2557 ของบริษัทจึงชอบแล้วนั้น เห็นว่า คำว่ากรรมการตามมาตรา 1172 วรรคหนึ่ง หมายถึงคณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของคณะกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1161 เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองเรียกประชุมใหญ่โดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้น การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนผู้ร้องทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท

Share