คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ว่า ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม 2521 เวลาใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2521 เวลากลางวันจำเลยที่ 5 และที่ 8 กับพวกอีกหลายคนซึ่งบางคนถึงแก่กรรมไปแล้วได้ร่วมกันช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานได้ร่วมกันดำเนินการให้จำเลยที่ 8 ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ ในนามของนางสาว นภาพร บุญมา ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง และเป็นความผิดโดยจำเลยที่ 5 และที่ 8 กับพวกได้ร่วมกันจ้าง หรือวาน หรือมิฉะนั้นก็ได้ใช้ให้จำเลยที่ 1 กับที่ 4 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 5 กับพวกเป็นผู้สนับสนุนจำเลยอื่นซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ดำเนินการให้จำเลยที่ 8 ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนในนามของผู้อื่น แม้ในตอนหลังจะบรรยายว่าจำเลยที่ 5 กับพวกได้ร่วมกันจ้าง หรือวาน หรือใช้ให้จำเลยอื่นกระทำผิดตามฟ้องก็หาได้ขัดแย้งกันเองไม่ เพราะแม้ว่าทางพิจารณาจะได้ความทางใดทางหนึ่ง จำเลยที่ 5 ก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกัน ส่วนการที่จำเลยที่ 5 ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยอื่นซึ่งเป็นเจ้าพนักงานคนใดและอย่างใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา หาจำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องไม่ ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒, ๘๓, ๘๔ และ ๘๖
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๘ให้การปฏิเสธ
ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๑ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๖และที่ ๗ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๕ ผิดตามมาตรา๑๕๗, ๑๖๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๒ ปี จำเลยที่ ๒ รับสารภาพระหว่างพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ ปียกฟ้องจำเลยที่ ๔ และที่ ๘
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ อุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ ๒ขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้จำเลยที่ ๓ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๖ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๕ ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อ ๒ ก. ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๕ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๕ว่า ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ (วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ เวลาใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๑ เวลากลางวัน) จำเลยที่ ๕ และที่ ๘ กับพวกอีกหลายคนซึ่งบางคนถึงแก่กรรมไปแล้วได้ร่วมกันช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานได้ร่วมกันดำเนินการให้จำเลยที่ ๘ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของนางสาวนภาพร บุญมา ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริงและเป็นความผิดดังกล่าวข้างต้นโดยจำเลยที่ ๕และที่ ๘ กับพวกได้ร่วมกันจ้างหรือวาน หรือมิเช่นนั้นก็ได้ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ กระทำผิดดังกล่าวข้างต้นตามฟ้องข้อ ๑ (๑) ถึง (๕) ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ ๕ กับพวกเป็นผู้สนับสนุนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ดำเนินการให้จำเลยที่ ๘ ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนในนามของผู้อื่นแม้ในตอนหลังจะบรรยายว่าจำเลยที่ ๕ กับพวกได้ร่วมกันจ้างหรือวานหรือใช้ให้จำเลยอื่นกระทำผิดตามฟ้องก็หาได้ขัดแย้งกันเองไม่ เพราะแม้ว่าทางพิจารณาจะได้ความทางใดทางหนึ่ง จำเลยที่ ๕ ก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกัน ส่วนการที่จำเลยที่ ๕ ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยอื่นซึ่งเป็นเจ้าพนักงานคนใดและอย่างใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณา หาจำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องไม่ และเห็นว่าจำเลยที่ ๕เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๕ จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๖ นั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๖ กระทำผิดตามฟ้องจริง ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share