แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 อันเป็นกระทงหนักตามมาตรา 91 จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น เมื่อคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ประกาศใช้บังคับโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้ยกเว้นโทษให้จำเลยในความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นนี้ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกพระราชบัญญัตินี้ขึ้นวินิจฉัยยกเว้นโทษให้จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย และฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาตและขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาพยายามฆ่า แต่รับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นกระทงหนักจำคุกจำเลย 10 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ แต่เฉพาะในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ส่วนในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตนั้น จำเลยได้รับยกเว้นโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ปืนและปลอกกระสุนของกลางไม่ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายได้ สำหรับข้อหาฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตนั้นปรากฏว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คือเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2510 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ออกใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 6 ได้ยกเว้นโทษให้โอกาสผู้มีอาวุธปืนผิดกฎหมายนำอาวุธปืนนั้นมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 6ขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรค 2 ที่ศาลอุทธรณ์ยกเอากฎหมายนี้มาวินิจฉัยว่าจำเลยได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานนี้ จึงเป็นการชอบแล้วเพราะกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิด แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใดเว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว ฯลฯ” และพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 6 ก็บัญญัติเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดคือจำเลย โดยจำเลยไม่ต้องรับโทษ
พิพากษายืน