คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10398/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยลงชื่อรับสินค้าตามใบส่งของ การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาต่างตอบแทนที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินค้านับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบจึงมีกำหนดอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ครบกำหนดสองปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาและเป็นวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา และอายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คู่ความไม่จำต้องนำสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 182,626.90 บาท (ที่ถูก 182,620 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 158,806 บาท (ที่ถูก 158,800 บาท) นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 182,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 158,800 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายกฤษณรักษ์ เป็นกรรมการลงชื่อผูกพันบริษัทและมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรอง จำเลยสั่งซื้อสินค้าเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์ 4 ชุด จำเลยลงชื่อรับสินค้าตามใบส่งของ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นแรกว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าตามใบส่งของจากโจทก์หรือไม่ นอกจากโจทก์จะมีนายกฤษณรักษ์มาเบิกความยืนยันแล้ว โจทก์ยังมีนายธงชัยมาเบิกความสนับสนุนประกอบพยานเอกสาร โดยตามใบส่งของตอนล่างระบุว่า กรุณาชำระด้วยเช็คขีดคร่อมในนามนายกฤษณรักษ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ และได้ความจากจำเลยตอบคำถามค้านว่า ก่อนการซื้อสินค้าคดีนี้ โจทก์เคยส่งสินค้าเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง แก่จำเลย มารดาจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยจะต้องสั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้าแก่นายกฤษณรักษ์ อีกทั้งจำเลยเคยซื้อขายสินค้าเครื่องปรับอากาศจากโจทก์ และมารดาจำเลยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์มาก่อน ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนัก ส่วนจำเลยเพียงแต่เบิกความลอย ๆ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าตามใบส่งของ
ปัญหาวินิจฉัยในประเด็นที่สองมีว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์หรือไม่ นายกฤษณรักษ์เบิกความว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ ส่วนจำเลยเบิกความว่า จำเลยชำระค่าสินค้าแก่นายธงชัยแล้ว โจทก์และจำเลยต่างเบิกความยันกัน แต่โจทก์มีนายธงชัยเบิกความยืนยันว่า พยานเพียงแต่รับจ้างจำเลยติดตั้งเครื่องปรับอากาศและนายธงชัยเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยชำระค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 20,000 บาท แก่พยาน แต่จำเลยไม่เคยพูดกับพยานว่าจำเลยชำระค่าสินค้าให้แก่พยานครบถ้วนแล้ว จากคำเบิกความของนายธงชัยย่อมแสดงว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าสินค้าแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์
ปัญหาวินิจฉัยในประเด็นสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จากจำเลยนับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป ไม่ใช่นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าแก่จำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำเบิกความของนายกฤษณรักษ์ว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยลงชื่อรับสินค้าตามใบส่งของ เห็นว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาต่างตอบแทนที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินค้าได้ทันทีนับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าตามใบส่งของ ดังนั้น โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินค้านับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบจึงมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ส่งสินค้าให้แก่จำเลยคือ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 จะครบกำหนดสองปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาและเป็นวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา และอายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย โจทก์จึงมีถึงสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่นำสืบว่าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นวันมาฆบูชาและศาลหยุดทำการ เห็นว่า วันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันหยุดราชการเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คู่ความไม่จำต้องนำสืบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share