แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ได้ขายทอดตลาดแผงวงจรโทรทัศน์สินค้าของกลางที่ยึดไว้โดยอ้างว่าถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย แต่เมื่อปรากฏว่าได้มีการยึดสินค้าของกลางเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยคืนสินค้าของกลางให้โจทก์โดยได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2527 และได้มีการขายทอดตลาดสินค้าของกลางเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ทั้งไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานว่าจะทำให้สินค้าเป็นสนิมหรือเสื่อมสภาพแต่อย่างใด ถึงแม้จะหน่วงช้าไว้อีกก็ไม่เป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย การขายสินค้าของกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ต้องคืนหรือใช้ราคาสินค้าของกลางตามที่เป็นจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบกิจการค้าขายส่งและขายปลีกเครื่องไฟฟ้าประเภทเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อวันที่24 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 2 กับพวกได้ทำการตรวจค้นสินค้าของโจทก์ แล้วกล่าวหาว่าเป็นสินค้าที่ได้มาโดยการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและยึดสินค้าพร้อมควบคุมตัวโจทก์ไป แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญา คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 คืนสินค้าของกลางทั้งหมดแก่โจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 คืนสินค้าแก่โจทก์ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนสินค้าของกลางให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน435,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร สินค้าของกลางเสื่อมสภาพไปตามอายุการเก็บรักษาและตกรุ่น ถ้าหน่วงไว้ช้าจะเสียหายเพื่อรักษาประโยชน์ของทุกฝ่ายจำเลยที่ 1 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ขายทอดตลาดของกลางไปก่อนเพื่อถือเงินไว้ อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์เอง ได้เงินจากการขายทอดตลาดทั้งสิ้น 135,150 บาทเมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้คืนของกลางแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินที่ขายของกลางได้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาทั้งหมดนั้น มิใช่ค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ตามกฎหมาย เพราะเป็นการเรียกร้องที่ไกลกว่าเหตุขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 264,650 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469บัญญัติว่า “ถ้าของที่ยึดไว้นั้นเป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะมากเกินสมควร อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายจะสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรก่อนที่ของนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ได้ เงินค่าขายของนั้นเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันทั้งปวงออกแล้ว ให้ถือไว้แทนของ”การที่จำเลยที่ 1 ได้ขายทอดตลาดสินค้าของกลางรายนี้โดยอ้างว่าถ้าหน่วงช้าไว้ก็จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย เนื่องจากแผงวงจรโทรทัศน์มีรุ่นใหม่ออกมาเสมอ ทำให้สินค้าของกลางตกรุ่นและเก็บไว้นานจะเสื่อมสภาพลงทุกวัน แต่เมื่อพยานหลักฐานฟังได้ว่า สินค้าของกลางใช้งานได้นาน และสามารถเอาใช้กับโทรทัศน์รุ่นใดก็ได้ประกอบกับคดีนี้ได้มีการยึดสินค้าของกลางเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม2524 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยคืนสินค้าของกลางให้โจทก์ตามคำเบิกความของโจทก์ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่8 มกราคม 2527 และได้มีการขายทอดตลาดสินค้ารายนี้เมื่อวันที่23 กรกฎาคม 2528 ตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานว่าจะทำให้สินค้าเป็นสนิมหรือเสื่อมสภาพแต่อย่างใด ถึงแม้จะหน่วงช้าไว้อีกก็ไม่เป็นการเสี่ยงความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ขายสินค้าของกลางไปจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 จึงต้องคืนหรือใช้ราคาสินค้าของกลางตามที่เป็นจริง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 299,650 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์