คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1039/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีเรื่องผิดมรรยาททนายความอัยยการประจำเนติบัณฑิตสภาย่อมเป็นโจทก์ร้องกล่าวหาได้ ถึงแม้ว่าผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความถึงแก่ถอนคดีก็ตาม การจำหน่ายคดีไม่เรียกว่าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาอีกได้

ย่อยาว

คดีได้ความเดิมจำเลยไปรับว่าความให้ ร.ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้อง อ.หาว่าหมิ่นประมาท ภายหลับกลับไปรับเป็นทนายแก้ต่างให้ อ.จนศาลยกฟ้อง ร.จึงยื่นเรื่องราวกล่าวโทษจำเลยต่อกรรมการสอดส่องความประพฤตติทนายความ ๆ ได้ทำความเห็นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ระหว่างนี้ ร.วายชนม์ มารดา ร.ผู้รับมฤดกได้ยื่นคำร้องขอว่าความต่อไปและแล้วกลับยื่นคำร้องครั้งที่ ๒ ขอถอนคำร้องเดิมศาลอุทธรณ์จึงสั่งจำหน่ายสำนวนคืนไปยังเนติบัณฑิตสภา อัยยการเนติบัณฑิตสภาจึงยื่นคำร้องขอให้กรรมการสอดส่องความประพฤติ์ทนายความนำคดีขึ้นพิจารณาต่อไปใหม่ ซึ่งจำเลยคัดค้าน
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่าคดีผิดมรรยาททนายความนี้ อัยยการเนติบัณฑิตสภาย่อมเป็นโจทก์ร้องกล่าวหาได้ เพราะไม่ใช่คดีแพ่งหรืออาญา ซึ่งจำกัดฉะเพาะผู้เสียหายเท่านั้น และพ.ร.บ.ทนายความก็มิได้จำกัดว่าโจทก์จะต้องเป็นเจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายและเมื่ออัยยการเป็นโจทก์ได้ หากเจ้าทุกข์ไม่ติดใจเอาความก็ไม่ตัดอำนาจอัยยการที่จะว่าคดีนั้น และเห็นว่าการจำหน่ายคดีไม่ใช่พิพากษาคดีจึงไม่เรียกว่าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ในเรื่องกฎหมายลงโทษผู้ผิดมรรยาททนายความนี้เป็นการรักษาประโยชน์ของมหาชนและของหมู่ชนที่มีอาชีพในทางว่าความโดยฉะเพาะ หาได้บัญญัติเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายฝ่ายเดียวไม่ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่ห้ามมิให้จำเลยว่าความมีกำหนด ๓ ปี

Share