คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ทำสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินจำนวน6แปลงจากจำเลยในราคา1,200,000บาทโดยในวันดังกล่าวโจทก์ได้วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยจำนวน350,000บาทและจะจัดการโอนที่ดินต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนด6เดือนนับแต่วันทำสัญญาดังนี้เมื่อปรากฏว่าในขณะซื้อขายที่ดินพิพาทกันนั้นโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการซื้อขายโดยการโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองในหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ใบภ.บ.ท.5โดยจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานและส่งมอบการครอบครองต่อกันดังนั้นข้อความในสัญญามัดจำที่ว่า”คู่ความตกลงกันว่าจะได้ทำพิธีโอนกรรมสิทธิ์กันต่อเจ้าพนักงาน”จึงหมายถึงการโอนที่ดินพิพาทต่อกันโดยเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองในหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ใบภ.บ.ท.5โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานและส่งมอบการครอบครองกันนั่นเองซึ่งจำเลยก็พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทโดยวิธีดังกล่าวนี้แล้วแต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมรับโอนฉะนั้นจำเลยจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2533 จำเลยตกลงขายที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครองรวม 6 แปลง เนื้อที่ 300 ไร่แก่โจทก์ในราคา 1,200,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำไว้ 350,000 บาทต่อมาโจทก์ตรวจพบว่าที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่เพียง 190 ไร่ 1 งาน65 ตารางวา และจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ตามข้อตกลง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินมัดจำ 350,000 บาท และชำระเบี้ยปรับ 1,200,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,550,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ตรวจสอบอาณาเขตและเนื้อที่แล้วจึงตกลงซื้อเหมาจากจำเลยทั้ง 6 แปลงซึ่งประมาณไว้ว่าเนื้อที่ 200-300 ไร่ เมื่อโจทก์ละเลยไม่ไปรับโอนการครอบครองในวันที่ 21 มกราคม 2534 ตามที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะริบเงินมัดจำขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 350,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่21 กรกฎาคม 2533 โจทก์ได้ทำสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินจำนวน6 แปลง จากจำเลยในราคา 1,200,000 บาท โดยในวันดังกล่าวโจทก์ได้วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยจำนวน 350,000 บาท และจะจัดการโอนที่ดินต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาตามสัญญามัดจำเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่าในขณะซื้อขายที่ดินพิพาทกันนั้นโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการซื้อขายโดยการโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองในหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ใบ ภ.บ.ท.5 โดยจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานและส่งมอบการครอบครองต่อกันดังที่ชาวบ้านปฏิบัติกันมา ดังนั้น ข้อความในสัญญามัดจำเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ที่ว่า “คู่ความตกลงกันว่าจะได้ทำพิธีโอนกรรมสิทธิ์กันต่อเจ้าพนักงาน” จึงหมายถึงการโอนที่ดินพิพาทต่อกันโดยเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองในหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ใบ ภ.ท.บ.5 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานและส่งมอบการครอบครองกันนั่นเองซึ่งจำเลยก็พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทโดยวิธีดังกล่าวนี้แล้วแต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมรับโอน ฉะนั้นจำเลยจึงยังไม่นกเป็นผู้ผิดสัญญา
พิพากษายืน

Share