แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าผู้จัดการมรดกของจำเลยไม่ได้รับการแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดที่พิพาทอันเป็นบังคับคดีฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 306 ก็ตาม แต่เมื่อผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเข้ามาภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีได้ ตามมาตรา 296 วรรคสอง.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผู้จัดการมรดกของจำเลยซึ่งขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะยอมชำระหนี้แล้วผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนูยาตให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 เจ้าพนักงานบังคับคดีออกประกาสและกำหนดวันขายทอดตลาด โดยกำหนดขายทอดตลาดในวันที่ 4 สิงหาคม 2529 เวลา 10 นาฬิกาถึงกำหนดเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 80,000 บาท โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ ผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาและศาลชั้นต้นได้มีหนังสือลงวันที่ 29 สิงหาคม 2529 ถึงนายอำเภอทองผาภูมิให้จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์แล้ว
ผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องว่า ผู้จัดการมรดกไม่ได้รับแจ้งการยึดและการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาท จึงเป็นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 304, 306 ที่ดินพิพาทมีราคาท้องตลาดสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้และสูงกว่าราคาที่ขายได้มาก ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การแจ้งการยึดและการแจ้งประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ทำถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และแม้จะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่การบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ผู้จัดการมรดกของจำเลยไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ผู้จัดการมรดกของจำเลยไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้จัดการมรดกของจำเลยอุทธรณ์
ผู้จัดการมรดกของจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าผู้จัดการมรดกของจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 4 สิงหาคม 2529 ว่า ในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนั้นผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 80,000 บาท และเป็นผู้ซื้อได้ผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระเงินมัดจำค่าซื้อที่ดินพิพาทเป็นเงิน 20,000บาท ในวันขายทอดตลาดแล้ว ส่วนที่เหลือผู้ซื้อทรัพย์จะชำระภายใน 15 วัน ปรากฏตามหนังสือวางมัดจำค่าซื้อทรัพย์ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2529 และผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือครบถ้วนภายในกำหนดแล้ว ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2529 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2529 ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงนายอำเภอทองผาภูมิให้จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้ผู้ซื้อทรัพย์และโจทก์ได้รับชำระหนี้จากเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไปแล้ว ปรากฏตามใบรับเงินหรือสิ่งของที่คู่ความรับไปจากศาลลงวันที่ 2 กันยายน 2529 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2530 ผู้จัดการมรดกของจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ไม่ได้รับแจ้งการยึดและการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาท เพิ่งจะทราบการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2530 เห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาถือได้ว่าการบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทของจำเลยได้เสร็จลงแล้ว แต่การที่จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดนั้นจะต้องร้องคัดค้านก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันทราบการฝ่าฝืนนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ฉะนั้นแม้คดีนี้จะฟังว่าผู้จัดการมรดกของจำเลยไม่ได้รับแจ้งการยึดและการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทอันเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ก็ตามแต่ผู้จัดการมรดกของจำเลยมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีนี้ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2690/2524 ระหว่าง บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด โจทก์ นางพรพิมล ภู่ภิรมย์รัตน์ กับพวก จำเลย นายสุขสันต์ ภู่ภิรมย์รัตน์ ผู้ซื้อทรัพย์ ที่อ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงแตกต่างกับคดีนี้ จึงจะนำมาเปรียบเทียบกันหาได้ไม่และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาในเรื่องราคาที่ดินพิพาท…”
พิพากษายืน.