คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภรรยาเอาเรือนไปขายฝากแก่จำเลยไว้ โดยสามีได้ให้ความยินยอม ครั้งครบกำหนดไถ่ถอนตามสัญญาแล้ว ภรรยากลับขอทำสัญญาต่อใหม่อีก จำเลยก็ยินยอม ทางอำเภอจึงทำสัญญาขายฝากขึ้นอีกฉะบับหนึ่ง ดังนี้ ถือได้ว่า การทำสัญญาขายฝากครั้งที่ 2 นี้เป็นแต่เพียงพิธีการสำหรับยืดอายุสิทธิการไถ่ถอนออกไปอีก เท่านั้น ต้องถือว่าเป็นการขายฝากรายเดียวกันซึ่งสามีได้ยินยอมตกลงอนุญาตให้ทำนิติกรรมนั้นแล้ว และถ้าสามีจะอ้างว่าการทำขายฝากครั้งที่ 3 คือยืดอายุการไถ่ถอน ไม่ได้รับอนุญาตจากสามี ขอให้เพิกถอนเสีย กรรมสิทธิในทรัพย์ที่ขายฝากก็ย่อมตกได้แก่จำเลยบริบูรณ์ตั้งแต่ครบกำหนดการไถ่ถอนตามสัญญาครั้งแรกแล้ว จำเลยจึงย่อมบังคับให้เปลี่ยนแก้ทะเบียนเรือนให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิได้

ย่อยาว

คดีได้ความว่า นางเจริญ สุตันตานนท์ภรรยาโจทก์ได้เอาเรือนเลขทะเบียนที่ ๙๕, ๙๗, ๙๙ อันเป็นทรัพย์สมรสระหว่างโจทก์และนางเจริญ ไปทำสัญญาต่ออำเภอดุสิต ขายฝากไว้กับจำเลยเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๐ เป็นเงิน ๖๕๐๐ บาท กำหนดไถ่ถอนคืนใน ๑๐ เดือน โดยโจทก์ให้ความยินยอม ต่อมาเมื่อถึงกำหนดไถ่ถอน นางเจริญได้ยื่นคำร้องต่ออำเภอขอทำสัญญาต่อใหม่อีก ฝ่ายจำเลยก็ยินยอม อำเภอจึงทำสัญญาขายฝากขึ้นใหม่อีกฉะบับหนึ่ง มีกำหนดไถ่ถอน ๑ ปี ครั้งครบกำหนด นางเจริญหาได้ไปไถ่ถอนไม่จัดการ จำเลยจึงฟ้องศาลขอให้บังคับนางเจริญ ศาลพิพากษาให้นางเจริญไปจัดการแก้ทะเบียนต่อกรมการอำเภอดุสิต ระหว่างบังคับคดีอยู่นั้น โจทก์ได้มีหนังสือบอกล้างนิติกรรมขายฝาก อ้างว่านางเจริญได้กระทำไปโดยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย แล้วโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาและคำบังคับตามคำพิพากษาดังกล่าวเสีย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนางเจริญภรรยาโจทก์ได้ทำการขายฝากเรือนพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาขายฝากครั้งที่ ๑ โดยโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วยแล้ว กรรมสิทธิในทรัพย์สินย่อมตกไปยังจำเลยเมื่อไม่มีการไถ่ถอนภายในกำหนด สิทธิไถ่ถอนก็ย่อมสิ้นไป แต่ปรากฎว่านางเจริญได้ขอยืดอายุการไถ่ถอนไปอีก ซึ่งจำเลยยินยอมด้วย การทำสัญญาขายฝากครั้งที่ ๒ จึงเป็นแต่พิธีการสำหรับยืดอายุสิทธิการไถ่ถอนออกำปอีกเท่านั้น ต้องถือว่าเป็นการขายฝากรายเดียวกัน ซึ่งโจทก์ได้ยินยอมตกลงอนุญาตให้ทำนิติกรรมนั้นแล้ว ถ้าโจทก์จะอ้างว่า การทำนิติกรรมยืดอายุการไถ่ถอนไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ๆ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นแล้ว กรรมสิทธิบริบูรณ์ก็ย่อมได้แก่จำเลยตั้งแต่ครบกำหนดไถ่ถอนตามสัญญาครั้งแรก คดีของโจทก์ไม่มีทางชนะได้
จึงพิพากษายืน

Share