คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ทรัพย์หรือเอกสารใด” ที่ได้ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลให้รักษาไว้ในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 นั้นหมายถึงสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้เพื่อวินิจฉัยประเด็นในการพิจารณาคดีเท่านั้น
สมุดฝากเงินออมสินที่จำเลยได้นำไปมอบให้ศาลยึดไว้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยอื่นในคดีอาญา มิใช่เป็นทรัพย์หรือเอกสารที่จะเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย จึงไม่เป็นทรัพย์หรือเอกสารที่ได้ส่งศาล หรือที่ศาลให้รักษาไว้ในการพิจารณาคดตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าสมุดฝากเงินออมสินดังกล่าวสูญหายไป แล้วนำหลักฐานการแจ้งหายไปเบิกเงินปิดบัญชีสมุดหายเลิกฝากและได้เงินตามจำนวนที่ฝากไป โดยที่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องก็ยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันอันจะถือว่ามีข้อพิพาทกันอีกส่วนหนึ่งในคดีเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 185
คำรับสารภาพของจำเลยในคดีอาญาเป็นเพียงรับว่าได้กระทำการตามที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น การกระทำตามฟ้องจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณา เมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยในข้อหาใดไม่เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๓๗, ๑๘๕, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗, ๑๘๕, ๙๑ ลงโทษฐานแจ้งความเท็จ จำคุก ๔ เดือน ฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารที่ส่งไว้ต่อศาล จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๕ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๕
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๕ บัญญัติว่า”ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดี…” เห็นว่า บทบัญญัติในมาตรานี้อยู่ในลักษณะ ๓ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ถ้อยคำในตัวบทที่ว่า”ทรัพย์หรือเอกสารใดที่ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดี” นั้น ทั้งทรัพย์และเอกสารจะต้องเป็นสิ่งที่ใช้ในการพิจารณาคดีและสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้ในการพิจารณาคดีนั้น หมายถึงสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้เพื่อวินิจฉัยประเด็นในการพิจารณาคดีสมุดฝากเงินออมสินตามคำฟ้องนั้นได้ส่งหรือรักษาไว้ในฐานะที่เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาเท่านั้น มิใช่เป็นทรัพย์หรือเอกสารที่จะเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวนั้นกระทำผิดหรือไม่อย่างไร คงเป็นเพียงหลักประกันในทางแพ่งที่จะบังคับตามสัญญาประกันตัวเท่านั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคำฟ้องคดีอาญา และข้อเท็จจริงตามคำฟ้องก็ยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันอันจะถือว่ามีข้อพิพาทกันอีกส่วนหนึ่งในคดีดังนั้นสมุดฝากเงินออมสินประเภทเผื่อเรียกที่ฟ้องจึงไม่เป็นทรัพย์หรือเอกสารที่ได้ส่งหรือศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๕ บัญญัติไว้ การกระทำตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว
ส่วนที่โจทก์อ้างเหตุผลในฎีกาว่า เมื่อจำเลยรับสารภาพศาลต้องฟังว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่มีเหตุที่จะฟังใหม่ว่าจำเลยไม่มีความผิดเพราะจำเลยอุทธรณ์ เพียงขอให้รอการลงโทษเท่านั้น เห็นว่า ในคดีอาญาที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้น คำรับสารภาพของจำเลยเป็นเรื่องที่รับว่าเป็นการกระทำตามฟ้องเท่านั้น ส่วนการกระทำตามฟ้องจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ ว่า”ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี… ให้ศาลยกฟ้องโจทก์…” ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้นั้นศาลอุทธรณ์ต้องนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๕ เมื่อการกระทำตามฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความผิดในกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๕ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องยกฟ้องตามที่บัญญัติในบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลย
พิพากษายืน.

Share