คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10340-10378/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางต้องออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด

ย่อยาว

คดีเดิมมีเก้าสิบแปดสำนวนโดยศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับหมายเลขแดงที่ 2123/2549 ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ทั้งเก้าสิบแปดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามลำดับ เรียกนายอมรเทพว่า จำเลยที่ 1 เรียกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า จำเลยที่ 2 และเรียกนางกุลวดีว่า จำเลยที่ 3 คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสามสิบเก้าสำนวนนี้
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานและขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โดยโจทก์ในคดีเดิมทั้งเก้าสิบแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 (ประเด็นที่ศาลแรงงงานกลางกำหนดไว้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด) โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีมติให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้แก่ลูกจ้างองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ประเภทใดบ้าง โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ หรือมีเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร อันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่จำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องหรือไม่ แล้วดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสาม ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คดีถึงที่สุด
โจทก์ที่ 2 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 33 ที่ 34 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 41 ที่ 42 ที่ 44 ถึงที่ 50 ที่ 52 ที่ 54 ที่ 55 ที่ 58 ที่ 60 ถึงที่ 62 ที่ 65 ถึงที่ 67 ที่ 69 ที่ 72 ถึงที่ 76 ที่ 79 ที่ 82 ถึงที่ 84 ที่ 86 ที่ 91 ที่ 95 และที่ 98 รวม 40 คน ยื่นคำขอต่อศาลแรงงานกลางเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอก ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ต้องห้ามมิให้ยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 (4) จึงไม่มีเหตุให้ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ยกคำร้อง
โจทก์ที่ 2 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 33 ที่ 34 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 41 ที่ 42 ที่ 44 ถึงที่ 50 ที่ 52 ที่ 54 ที่ 55 ที่ 58 ที่ 60 ถึงที่ 62 ที่ 66 ที่ 67 ที่ 69 ที่ 72 ถึงที่ 76 ที่ 79 ที่ 82 ถึงที่ 84 ที่ 86 ที่ 91 ที่ 95 และที่ 98 รวม 39 คน อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 72 และที่ 95 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 33 ที่ 34 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 41 ที่ 42 ที่ 44 ถึงที่ 50 ที่ 52 ที่ 54 ที่ 55 ที่ 58 ที่ 60 ถึงที่ 62 ที่ 66 ที่ 67 ที่ 69 ที่ 73 ถึงที่ 76 ที่ 79 ที่ 82 ถึงที่ 84 ที่ 86 ที่ 91 และที่ 95 รวม 37 คน ว่า การที่ศาลแรงงานกลางปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดอุทธรณ์ว่า การตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ใช่การยึดทรัพย์ ทั้งการออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้ออกหมายบังคับคดีในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 จะทำได้เพียงใด เป็นกระบวนการในการบังคับคดีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ประกอบกับคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด เป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอก มิใช่สิทธิที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เห็นว่า แม้การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 และมาตรา 276 กับการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกระบวนการคนละขั้นตอนกันก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินหรือเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 285 และมาตรา 286 ศาลย่อมมีอำนาจปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้มีคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบังคับ โดยเจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับไปยังจำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว และระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ล่วงพ้นไปแล้ว ทั้งคำขอให้ออกหมายบังคับคดีของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดมีข้อความระบุไว้ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 275 แล้ว การจะออกหมายบังคับคดีให้โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดหรือไม่ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อบุคคลภายนอกเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นส่วนราชการ แต่เป็นองค์การของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีรายได้จากเงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ กับมีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย และมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า “รายได้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ทั้งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้นสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 (4) ศาลแรงงานกลางจึงต้องออกหมายบังคับคดีให้โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด ที่ศาลแรงงานกลางปฏิเสธไม่ออกหมายบังคับคดีให้โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดต่อไป

Share