คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในวันที่ 4 มิถุนายน 2522 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดวันที่ 14 มิถุนายน 2522 ดังนี้ เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 บัญญัติว่ามิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๒ เวลากลางคืน จำเลยได้บังอาจข่มขืนกระทำชำเรานางเล็กผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๔ ข้อ ๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๗ จำคุก ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้จำเลย ๑ ใน ๔ คงจำคุกจำเลยไว้ ๑ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๒ แต่ผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยกระทำผิดวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๒ ทางพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้อง ศาลต้องยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความแตกต่างทีจำเลยฎีกานั้น เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕ บัญญัติว่ามิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้
พิพากษายืน

Share