แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยการชกต่อย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยการเตะ ก็มิใช่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในวิธีการประทุษร้ายซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ที่ 2 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในชั้นพิจารณาจึงหาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
สำนวนแรก โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297
สำนวนที่สอง โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนแรกแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยการชกต่อย แต่หากทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทำร้ายโจทก์ที่ 2 โดยการเตะ ก็หาเป็นข้อเท็จจริงซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในวิธีการประทุษร้าย สาระสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ที่ 2 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ในชั้นพิจารณาจึงหาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.