คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมอยู่ที่บ้าน จ. ซึ่งเป็นปู่ โดยโจทก์ร่วมได้ไปเยี่ยมปู่และย่าที่บ้านพักและพักอาศัยอยู่ที่นั่น โดยผู้เสียหายที่ 2 ได้ส่งโจทก์ร่วมไปที่บ้าน จ. เพื่อให้มาดูแลเนื่องจาก จ. ป่วย จึงถือได้ว่า จ. อยู่ในฐานะผู้ดูแลโจทก์ร่วม โดยได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายที่ 2 ฉะนั้น การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนโจทก์ร่วมไปทำงานแล้วขับรถเก๋งมารับโจทก์ร่วมไปและต่อมาก็ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนและก้าวล่วงอำนาจผู้ดูแลของ จ. ที่มีต่อโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ส. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นอา ผู้ปกครองดูแลของโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก จ. ผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าวด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสอง อีกทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ด้วย โดยความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ดูแลโจทก์ร่วมเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามมาตรา 277 วรรคแรก และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาโจทก์ร่วมไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้แทนเฉพาะคดีและผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าพาหนะเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ ค่าพาหนะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการและค่าพาหนะเดินทางไปพบแพทย์ 10,500 บาท ค่าเสียหายในด้านอนามัยและจิตใจกล่าวคือ การกระทำชำเราของจำเลยทำให้โจทก์ร่วมได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจอย่างแรง และเป็นเหตุให้สุขภาพโจทก์ร่วมเสื่อมโทรม 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 510,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 12 ปี กับให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม และยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ร่วมเป็นบุตรของนายประจวบ กับนางสาวสมคิด ซึ่งแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 โจทก์ร่วมอาศัยอยู่กับนายประจวบจนกระทั่งอายุ 5 ปี นายประจวบก็ถูกจำคุกที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี ส่วนนางสาวสมคิดก็หนีออกจากบ้านไป โจทก์ร่วมจึงอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางสุดใจ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาของนายประจวบ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 นายประจวบถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมจึงมาพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่จังหวัดอ่างทอง ต่อมาต้นปี 2555 ผู้เสียหายที่ 2 ได้ให้โจทก์ร่วมไปพักอาศัยอยู่กับนายเจิม ซึ่งเป็นปู่ของโจทก์ร่วมที่จังหวัดนครนายก เพื่อดูแลนายเจิมที่กำลังป่วย ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลศาลาแดง อำเภอเมืองอ่างทอง และรู้จักกับผู้เสียหายที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จำเลยได้ขับรถยนต์ไปรับโจทก์ร่วมจากบ้านนายเจิมที่จังหวัดนครนายกมาที่จังหวัดอ่างทอง แต่ไม่ได้กลับไปพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ผู้เสียหายที่ 2 พบโจทก์ร่วมพักอาศัยอยู่กับนายชัชชัย คนรักที่ห้องพักในตลาดสุวพรรณ โจทก์ร่วมบอกผู้เสียหายที่ 2 ว่าจำเลยไปรับโจทก์ร่วมที่จังหวัดนครนายก พามาพักที่โรงแรมบัวหลวงในจังหวัดอ่างทองแล้วจำเลยได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 2 จึงพาโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความและถ้อยคำของผู้เสียหายที่ 2 มีลักษณะเป็นการเบิกความต่อศาลและให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาโดยธรรมชาติ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 อยู่หมู่บ้านเดียวกับจำเลย จึงรู้จักกันและเคยไปมาหาสู่กัน เนื่องจากจำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลศาลาแดง และช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 จำเลยเคยนำเรือไปช่วยเหลือรวมทั้งพูดคุยกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับสนิทกันถึงขนาดที่จำเลยจะขับรถเก๋งไปรับโจทก์ร่วมที่จังหวัดนครนายกมายังจังหวัดอ่างทอง เพื่อที่จะให้โจทก์ร่วมกลับมาทำงานตามคำขอของผู้เสียหายที่ 2ดังที่จำเลยเบิกความ อีกทั้งจำเลยก็น่าจะแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ทราบในวันที่จำเลยเดินทางไปรับโจทก์ร่วมและนำตัวโจทก์ร่วมมาส่งที่บ้านของผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยก็มิได้กระทำการเช่นนั้น และหลังเกิดเหตุจำเลยยังได้พบผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยก็มิได้พูดคุยเกี่ยวกับโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยโทรศัพท์ไปหาโจทก์ร่วมโดยบอกว่าจะมารับโจทก์ร่วมกลับไปทำงานนั้น เป็นเพียงกลอุบายของจำเลยที่จะให้โจทก์ร่วมเดินทางมากับจำเลยเท่านั้น แม้ผลการตรวจร่างกายโจทก์ร่วมของแพทย์หญิงศิรินทร์ ไม่เป็นข้อพิสูจน์ที่ฟังได้แน่นอนว่าโจทก์ร่วมถูกกระทำชำเราก่อนหน้านั้นประมาณ 3 เดือนหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเป็นเครื่องยืนยันเด็ดขาดว่าจำเลยจะไม่ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีพยานคือตัวโจทก์ร่วมเพียงปากเดียวที่รู้เห็นว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมโดยโจทก์ร่วมไม่ได้ยินยอมด้วยก็ตาม แต่โจทก์ร่วมเป็นเด็กอายุเพียง 14 ปีเศษ รู้จักกับจำเลย ขณะที่โจทก์ร่วมถูกจำเลยกระทำชำเรา โจทก์ร่วมก็มีความกลัวและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หลังจากถูกกระทำชำเราแล้ว โจทก์ร่วมคงอับอายและกลัวผู้เสียหายที่ 2 จะดุด่า จึงไม่กล้ากลับไปหาผู้เสียหายที่ 2 จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 ตามมาพบและสอบถามโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงได้เล่าให้ฟัง ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยแต่อย่างใด และการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องอื้อฉาวที่โจทก์ร่วมเองจะต้องอับอายขายหน้าต่อคนที่รู้จักและเป็นเรื่องเสื่อมเสียต่อวงศ์ตระกูล จึงไม่มีเหตุควรระแวงสงสัยว่าโจทก์ร่วมได้สร้างเรื่องขึ้นประจานตัวเอง หรือผู้เสียหายที่ 2 ได้เสี้ยมสอนโจทก์ร่วมผู้เป็นหลานให้บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปรักปรำจำเลยในเรื่องเสียหายเช่นนี้ เชื่อว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตามความจริง พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมในวันเกิดเหตุจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารและฐานพาเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2555 โจทก์ร่วมได้ไปเยี่ยมปู่และย่าที่บ้านพัก จังหวัดนครนายก และพักอาศัยอยู่ที่นั่น ทั้งผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความว่าได้ส่งโจทก์ร่วมไปที่บ้านนายเจิมเพื่อให้มาดูแลเนื่องจากนายเจิมป่วย ดังนี้จึงถือได้ว่านายเจิมอยู่ในฐานะผู้ดูแลโจทก์ร่วม โดยได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายที่ 2 ฉะนั้น การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนโจทก์ร่วมไปทำงานแล้วขับรถเก๋งมารับโจทก์ร่วมไปและต่อมาก็ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนและก้าวล่วงอำนาจผู้ดูแลของนายเจิมที่มีต่อโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แม้คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากนางสุดใจ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นอา ผู้ปกครองดูแลของโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากนายเจิมผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าวด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง อีกทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ด้วย โดยความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ดูแลโจทก์ร่วมเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามมาตรา 277 วรรคแรก และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาโจทก์ร่วมไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90
อนึ่ง ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วม เนื่องจากจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายด้านอนามัยและจิตใจ จึงขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ 500,000 บาท และค่าพาหนะการเดินทางในการดำเนินคดีรวม 7 ครั้ง ครั้งละ 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 10,500 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 510,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ส่วนจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมและยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share