คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ 3โฉนด ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดหนึ่งที่ทำสัญญาจะขาย และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะบังคับเอาที่ดินจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เต็มตามส่วนที่ควรจะได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบและเสียหาย แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกจะฟ้องขอให้หเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของคู่ความในคดีอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาแสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลูกหนี้กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ผูกพันโจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับนางสมบุญ บู่หาด เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 942 เนื้อที่ 48 ไร่เศษ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร ต่อมานางสมบุญถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสามี และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร เป็นผู้รับมรดกเนื้อที่ 12ไร่เศษ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินสามแปลงรวมทั้งโฉนดเลขที่ 942 ให้โจทก์ โจทก์ชำระราคาที่ดินแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จำเลยที่ 4 ตกลงให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินของนางสมบุญและให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ จำเลยที่ 3ได้ร่วมกับพนักงานที่ดินฉ้อฉงลโจทก์โดยเติมชื่อจำเลยที่ 4เป็นผู้รับมรดกด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับตามสัญญาจะซื้อขายครั้นโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย และจำเลยที่ 4 ได้ฟ้องจำเลที่ 1 ที่ 2 ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 942 และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมเป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบและได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 โดยสุจริต โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญากับจำเลยที่ 2 และได้บอกเลิกสัญญาแล้วส่วนจำเลยที่ 3 มิได้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญษประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและแผนที่ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 14 มีนาคม 2522ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธร์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2516 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 942, 5199, 2500 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานครราคา 2,050,000 บาทแก่โจทก์ ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมายจ.1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้รับเงินค่าที่ดินไปจากโจทก์แล้วเป็นเงิน 1,650,000 บาท เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 942มีชื่อนางสมบุญ บู่หาด ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทไปจัดการขอรับมรดกเฉพาะส่วนของนางสมบุญ และจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้รับมรดกแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าว ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบและเสียหายที่จะบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดที่ 942 เนื้อที่ 48 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 4ไม่ได้เป็นคู่สัญญา ที่ดินดังกล่าวเดิมมีชื่อนางสมบุญบู่หาด กับนางทับ สีสอาด ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมานางทับขายเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลย ที่ 1 ที่ 2 ปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาโฉนดหมาย จ.1 ในคดีแด่งหมายเลขดำที่ 97/2522 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเนื้อที่24 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เมื่อจำเลยที่ 4 ฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 1ที่ 2 ยอมรับว่าส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินโฉนดดังกล่าวมีเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 10 วา และส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2รวมกันมีกรรมสิืธิ์เนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 40 วา ส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับน้อยกว่าจำนวนที่ดินที่ตนมีสิทธิไป6 ไร่ 40 ตารางวา โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะบังคับเอาที่ดินจากจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่เต็มส่วนที่ควรจะได้ ย่อมเสียเปรียบและได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบนั้นได้ แต่โจทก์เป็ฯบุคคลภายนอกจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของคู่ความอื่นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 4 มีกรรมสิทธิ์เกินส่วนของตนที่ควรจะได้ ไม่ใช่คำพิพากษาแสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และตามฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่า โจทก์ประสงค์ให้ศาลแสดงว่าคำพิพากษาตามยอมนั้น บังคับโจทก์ไม่ได้ และไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 ฎีกาว่า ค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ หมายถึงค่าธรรมเนียมชั้นศาลอุทธรณ์เท่านั้นไม่รวมถึงค่าทนายความ และที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยที่ 2 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ประทับฟ้องโจทก์และให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เมื่อมีคำพิพากษาใหม่นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ระบุค่าฤชาธรรมเนียมชนิดใดไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา161 วรรคสอง ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้หรวมถึงค่าทนายความด้วยและศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโดยใช้ดุลพินิจคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีประกอบด้วย ที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมทั้งค่าทนายความแทนโจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีพแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้น ไม่ผูกพันโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ’.

Share