แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมของเจ้ามรดก ย่อมมีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ จึงมีสิทธิขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิให้ผู้จัดการมรดกซึ่งมีชื่อในโฉนดโอนขายที่ดินนั้นได้
ประมวลกฎหมายที่ดินให้อำนาจเจ้าพนักงานที่ดินที่จะสั่งให้อายัดได้ตามที่เห็นสมควร โดยพิจารณาจากหลักฐานและพฤติการณ์ที่ผู้ขออายัดแสดง หาจำต้องทำการสอบสวนดุจสอบสวนการกระทำผิดอาญาไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมของหลวงวุฒิการเนติชัยกึ่งหนึ่งของมรดกที่ดิน ๗ โฉนด อีกกึ่งหนึ่งยังมีคดีฟ้องร้องกับนางประทีป พรหมศิริ และพวกซึ่งอ้างว่าได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางวุฒิการเนติชัย ต่อมาศาลแพ่งสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ได้จัดการขอโอนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินแล้ว เพื่อดำเนินการขายเอาเงินมาจัดการตามหน้าที่ แต่ถูกนายสุเมธ นางประทีปกับพวกขออายัด กำหนดสิ้นสุดการอายัดในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๗ ก่อนครบกำหนด ผู้ขออายัดได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งถอนโจทก์ออกจากฐานะผู้จัดการมรดกและตั้งนางสุวรรณ สัตยวนิช เป็นแทน มิได้ฟ้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแสดงสิทธิเพื่อขอรับมรดกแต่อย่างใด แล้วนำสำเนาฟ้องไปแสดงต่อพนักงานที่ดิน พนักงานที่ดินก็รับฟังว่า ผู้ขออายัดได้ปฏิบัติในฐานะผู้ขออายัดโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยไม่สอบสวนให้รอบคอบ โจทก์ชี้แจงว่า การฟ้องเช่นนี้ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๓ แต่จำเลยไม่รับฟังทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยถอนอายัด หรือถอนอายัดโดยมีเงื่อนไข
จำเลยต่อสู้ว่า การรับอายัดหรือเพิกถอนการอายัดที่ดินเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดิน กรมที่ดินไม่มีอำนาจสั่ง จึงไม่ต้องรับผิด และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องทั้งการที่เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดไว้ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
โจทก์จำเลยส่งเอกสารที่อ้าง แล้วศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าการที่เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดไว้จะเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์จะขอให้จำเลยถอนการอายัดตามฟ้องได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ในข้อนี้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๓ บัญญัติว่า
“ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ให้ทำได้
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเห็นสมควรให้รับอายัดไว้ได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นดำเนินการทางศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี”
ปรากฏตามสำเนาคำขออายัดท้ายฟ้องว่า นายสุเมธกับพวกได้อ้างในคำขออายัดว่า เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมส่วนของเจ้ามรดกให้แก่ผู้ขออายัดตามรูปถ่ายพินัยกรรมซึ่งยื่นพร้อมคำขออายัด และกล่าวว่า โจทก์ผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนลงชื่อในโฉนดทั้ง ๗ แปลงแล้ว และจะจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่ผู้อื่น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำขออายัดนี้ ผู้ขออายัดได้แสดงให้เห็นเป็นหลักฐานแล้วว่า ผู้ขออายัดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินทั้ง ๗ โฉนด ในส่วนที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้ เมื่อได้ความว่าได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียว เช่นนี้ ผู้ขออายัดจึงอาจฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในฐานะที่ผู้ขออายัดมีสิทธิในที่ดินทั้ง ๗ โฉนดนี้ด้วยได้ ข้อที่ว่าโจทก์จะโอนขายที่ดินให้แก่ผู้อื่นนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างของผู้ขออายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินถึงพฤติการณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสมควรอายัดได้หรือไม่ กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานที่ดินจะสั่งอายัดได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่จำต้องสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษที่เจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้อายัดไว้ตามคำขอจึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน