แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 หมวด 1 วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ไม่นำวิธีพิจารณาคดีสามัญมาใช้บังคับ จำเลยได้ยื่นคำให้การฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ก่อนวันกำหนดนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน จึงยังมีเวลาที่จำเลยจะยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การได้อีกจนกว่าจะถึงวันนัด ครั้นถึงวันนัด คู่ความประสงค์จะเจรจาตกลงกันศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้อีกจนถึงวันดังกล่าว แม้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 193 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ก็ตาม แต่กรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ภายในกำหนดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยเลื่อนยื่นคำให้การได้ซึ่งหมายรวมถึงการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ด้วย ทั้งปรากฏว่าในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน ที่เลื่อนมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นได้จ่ายสำเนาให้ พ. ทนายโจทก์รับสำเนาแล้ว ทนายโจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยชอบ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบ โจทก์ต้องโต้แย้ง แต่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่งให้รับคำให้การอันเป็นคำคู่ความเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงในรายงานหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งเป็นหนังสือ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยดังกล่าวเพราะทนายโจทก์ฉ้อฉลไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้แต่งตั้ง พ. เป็นทนายความของโจทก์มีอำนาจในการว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดชอบในสิ่งที่ พ. ตัวแทนของโจทก์กระทำไปภายในขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายด้วย ข้ออ้างของโจทก์ที่ปฏิเสธไม่รับรู้การปฏิบัติหน้าที่ของ พ. จึงไม่มีเหตุผลรับฟัง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไว้โดยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,137,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 650,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 6,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้รับคำให้การเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งซึ่งศาลชั้นต้นรับไว้พิจารณาเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก จึงนัดพิจารณาโดยเร็ว โดยนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกันคือในวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณะ 2 หมวด 1 วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ ไม่นำวิธีพิจารณาคดีสามัญมาใช้บังคับ ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำให้การฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ก่อนวันกำหนดนัด จึงยังมีเวลาที่จำเลยจะยื่นคำร้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำให้การได้อีกจนกว่าจะถึงวันนัด ครั้นถึงวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน คู่ความประสงค์จะเจรจาตกลงกัน ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไข หรือเพิ่มเติมคำให้การได้อีกจนถึงวันดังกล่าว แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ก็ตาม แต่กรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ภายในกำหนดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยเลื่อนยื่นคำให้การได้ซึ่งหมายรวมถึงการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การได้ด้วย ทั้งปรากฏว่าในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานที่เลื่อนมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นได้จ่ายสำเนาให้นายพีระ ทนายโจทก์รับสำเนาแล้ว ทนายโจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยชอบ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบ โจทก์ต้องโต้แย้ง แต่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวต่อศาลแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่งให้รับคำให้การอันเป็นคำคู่ความเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 และมาตรา 228 เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงในรายงานหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งเป็นหนังสือ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าวตามมาตรา 226 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยดังกล่าวเพราะทนายโจทก์ฉ้อฉลไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้แต่งตั้งนายพีระเป็นทนายความของโจทก์ มีอำนาจในการว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดชอบในสิ่งที่นายพีระตัวแทนของโจทก์กระทำไปภายในขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายด้วย ข้ออ้างของโจทก์ที่ปฏิเสธไม่รับรู้การปฏิบัติหน้าที่ของนายพีระในฐานะทนายโจทก์จึงไม่มีเหตุผลรับฟัง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยไว้โดยชอบ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แทนจำเลย