คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ ๖ เป็นเพียงกิจการร่วมค้าระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และจำเลยที่ ๖ ได้จดทะเบียนในฐานะเป็นผู้ประกอบการต่อกรมสรรพากรเท่านั้นจำเลยที่ ๖ จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอันจะถูกฟ้องเป็นคดีนี้ได้
ศาลแรงงานวินิจฉัยจากพยานโจทก์ทั้งสิบสี่และจำเลยที่ ๑และที่ ๒ แล้วฟังว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่ จำเลยที่ ๑และที่ ๒ อุทธรณ์อ้างว่าการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางขัดแย้งกับข้อความในสัญญาจ้างที่โจทก์ทั้งสิบสี่อ้างส่งศาลเป็นการไม่ชอบ เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๔วรรคหนึ่ง
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๑๔) ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๖ ข้อ ๔๖ กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างและในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว นายจ้างได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่เลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่ทำสัญญาจ้างไว้นั้น ซึ่งมีงานอยู่ ๓ ประเภท แต่ในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้น ได้กำหนดไว้ด้วยว่าซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปีคำว่างานนั้น ย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน ๒ ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปีดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่ หากหมายถึงระยะเวลาการจ้างก็ต้องระบุไว้ในวรรคสามซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง การที่นำระยะเวลางานมากำหนดในวรรคสี่ จึงทำให้เห็นได้ว่าหมายถึงระยะเวลาของงานทั้งสามประเภทนั่นเอง เมื่องานที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต้องกระทำการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันมีกำหนดระยะเวลาสามปีเกินกว่า ๒ ปี แม้จะเป็นงานในโครงการเฉพาะหรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็ไม่ได้รับยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย
คดีนี้ศาลแรงงานมีคำสั่งให้คดีทั้งสิบสี่สำนวน ซึ่งมีโจทก์แต่ละคนเป็นโจทก์แต่ละสำนวนรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าเป็นคดีเดียวกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาจึงเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งสิบสี่สำนวน ศาลย่อมนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นคุณหรือโทษแก่คู่ความทั้งหมดในสำนวนได้ โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นคู่ความในสำนวนย่อมได้รับผลจากคำวินิจฉัยด้วย แม้โจทก์บางคนจะไม่ได้เข้าเบิกความก็ตาม จึงชอบที่ศาลแรงงานพิพากษาให้มีผลถึงโจทก์อื่นที่ไม่ได้เข้าเบิกความด้วยได้

Share