คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองและพระภิกษุ ส. ผู้เป็นทายาท และนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทจากจำเลยยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ยังอยู่ภายในอายุความที่พระภิกษุ ส. จะสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องขอแบ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 ดังนี้ ต้องแบ่งที่พิพาทออกเป็น 5 ส่วน โจทก์ได้คนละ 1 ใน 5
เมื่อยังไม่ได้แบ่งที่พิพาทกัน โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ส. เป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกัน โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้และเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำนาตั้งแต่ พ.ศ.2517 ทำให้โจทก์ขาดรายได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งนาพิพาทให้โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่ง และให้ใช้ค่าเสียหายปีละ 1,500 บาท นับแต่ปี 2516 จนถึงปีที่จำเลยยอมแบ่งนาให้โจทก์ จำเลยมิได้ฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เพราะการที่จำเลยเข้าทำนาในที่พิพาทที่ตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์คงฎีกาเพียงว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2516 เป็นการพิพากษาเกินคำขอเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และพระภิกษุเป็นบุตรของนายทา นายทาตายเมื่อ พ.ศ. 2516 ก่อนตายนายทามีที่นา 1 แปลง เนื้อที่31 ไร่ เมื่อนายทาตายแล้วโจทก์จำเลยได้ครอบครองที่นาดังกล่าวซึ่งเป็นนาพิพาทร่วมกันมา ส่วนพระภิกษุสุไม่ได้เกี่ยวข้องถือว่าสละมรดก นาพิพาทจึงเป็นมรดกแก่โจทก์จำเลยคนละ 1 ใน 4 ส่วน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2517จำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำกินในนาพิพาท ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการทำนาส่วนของโจทก์ปีละ 6,000 บาท ขอให้พิพากษาแบ่งนาพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกัน และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 6,000 บาท นับแต่ปีนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงปีที่จำเลยยอมแบ่งนาพิพาทให้โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายทาได้แบ่งนาให้บุตรทุกคนแล้วนาพิพาทคือนาที่นายทาแบ่งให้จำเลยทั้งสองและพระภิกษุสุ โจทก์ไม่เคยทำนาพิพาทพระภิกษุสุเพิ่งบวชมา 2 ปีเศษ และนายทาตายยังไม่ถึง 1 ปี ถือว่าสละมรดกไม่ได้ นาพิพาทเมื่อแบ่ง 5 ส่วนแล้วจะได้รับผลเป็นเงินเพียงปีละ 1,200 บาทเท่านั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองแบ่งนาพิพาทให้โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่ง หากแบ่งกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกัน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 1,500 บาท นับแต่ปี 2516 จนถึงปีที่จำเลยยอมแบ่งนาให้โจทก์

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทยังเป็นของนายทาและวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อนายทาตายที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองและพระภิกษุผู้เป็นทายาทของนายทา และนับจากวันที่นายทาตายจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี ยังอยู่ภายในอายุความที่พระภิกษุสุจะสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องขอแบ่งที่พิพาทอันเป็นมรดกของนายทาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 จึงต้องแบ่งที่พิพาทออกเป็น5 ส่วน ได้แก่โจทก์ทั้งสองจำเลยทั้งสองและพระภิกษุสุคนละ 1 ส่วน เมื่อยังไม่ได้แบ่งที่พิพาทกัน โจทก์ทั้งสองจำเลยทั้งสองและพระภิกษุสุจึงเป็นเจ้าของที่พิพาทรวมกัน จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเพราะการที่จำเลยทั้งสองเข้าทำนาในที่พิพาทที่ตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้นไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองคงฎีกาเพียงว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2516 เป็นการพิพากษาเกินคำขอเท่านั้นจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอนั้นปรากฏจากคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองห้ามไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำนาในที่พิพาทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2517 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2517 และขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นับตั้งแต่ปีนี้คือพ.ศ. 2517 อันเป็นปีที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองตั้งแต่ปี 2516 จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 โจทก์ทั้งสองควรได้ค่าเสียหายตั้งแต่ปี 2517 และควรได้ค่าเสียหายคนละหนึ่งในห้าส่วนเป็นเงินคนละ 600 บาท ต่อปีตามส่วนที่โจทก์ทั้งสองได้รับส่วนแบ่งในที่พิพาท

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในห้าส่วน ถ้าแบ่งกันไม่ได้ให้เอาที่พิพาทขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองปีละ 1,200 บาท นับตั้งแต่ปี 2517 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสอง หรือจนกว่าจะยึดที่พิพาทเพื่อขายทอดตลาดแล้วแต่กรณี

Share