คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกเสนอให้ผู้ร้องและผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูแล้วแต่ผู้ร้องและผู้ร้องสอดไม่ยอมลงชื่อรับรองเพราะผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ การทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้คัดค้านทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการทำบัญชีต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729 วรรคสอง แล้วแม้ผู้ร้องและผู้ร้องสอดไม่ลงชื่อในบัญชีทรัพย์มรดก ก็ไม่ทำให้การทำบัญชีทรัพย์มรดกเสียไป บัญชีทรัพย์มรดกมีรายละเอียดต่าง ๆ ตามสมควรโดยระบุยอดเงินฝากในธนาคารซึ่งคำนวณดอกเบี้ยไว้ ใบหุ้นก็ได้ระบุราคาตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ซื้อขายสลากออมสินแม้จะยังมิได้คิดดอกเบี้ย แต่สามารถคำนวณดอกเบี้ยได้เมื่อสลากครบอายุ ส่วนการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ก็อาศัยเกณฑ์ตามราคาประเมินของกรมที่ดินทรัพย์บางรายการที่ระบุว่าเป็นมรดกหรือไม่เป็นมรดกก็ระบุไปตามความเห็นโดยสุจริต ไม่มีเหตุแสดงว่าระบุโดยเจตนาทุจริตจะเบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตน จึงไม่มีเหตุจะสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกษม สุทธาศวิน ผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องและขอแก้ไขคำร้องว่า ผู้จัดการมรดกทั้งสองจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีพยานได้แก่ผู้ร้องกับผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกรับรองว่าได้ทำขึ้น นอกจากนี้ผู้จัดการมรดกทั้งสองยังจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและด้วยความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดกทั้งสองขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดกทั้งสอง และตั้งผู้ร้องกับผู้ร้องสอดร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามกฎหมายทุกประการแล้ว ผู้ร้องกับผู้ร้องสอดไม่เคยคัดค้านว่าบัญชีทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่ไม่ยอมลงชื่อโดยอ้างเหตุว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ผู้ร้องกับผู้ร้องสอดต้องการ เหตุสำคัญที่ไม่สามารถดำเนินการจัดมรดกให้แล้วเสร็จไปโดยเร็วก็เพราะฝ่ายผู้ร้องไม่ให้ความร่วมมือส่งมอบเอกสารสิทธิและเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องแก่ผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่าบัญชีทรัพย์มรดกที่ผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกทำขึ้นแล้วยื่นต่อศาลไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1729 วรรคสอง เพราะไม่ได้ทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย ข้อนี้ผู้ร้องและผู้ร้องสอดเบิกความเป็นพยานรับว่า ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองได้เคยนำบัญชีมรดกไปให้ตรวจสอบ และตามบันทึกการตรวจรับรองบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ร้องและผู้ร้องสอดลงวันที่ 26 ธันวาคม 2532เอกสารหมาย ร.2แผ่นที่ 8 ซึ่งผู้ร้องอ้างเป็นพยานระบุว่า “นางสมจันทร์ (ผู้ร้อง)และนายชิดชัย (ผู้ร้องสอด) ตรวจแล้วเห็นว่าบัญชีทรัพย์มรดกดังกล่าวยังบกพร่องด้วยเหตุหลายประการดังกล่าวแล้ว ประการสำคัญผู้จัดการมรดกทั้งสองจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2532 แต่อย่างใดดังนั้นนางสมจันทร์ (ผู้ร้อง) และนายชิดชัย (ผู้ร้องสอด) จึงไม่ลงชื่อรับรองบัญชีทรัพย์มรดก เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้ว” ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกเสนอให้ผู้ร้องและผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูแล้ว เหตุที่ผู้ร้องและผู้ร้องสอดไม่ยอมลงชื่อรับรองก็เพราะผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2532 ฉะนั้นการทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้คัดค้านจึงเป็นการทำบัญชีต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1729 วรรคสอง แล้ว การที่ผู้ร้องและผู้ร้องสอดไม่ลงชื่อในบัญชีทรัพย์มรดกไม่ทำให้การทำบัญชีทรัพย์มรดกเสียไป ผู้ร้องฎีกาต่อไปว่าการทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้คัดค้านทั้งสองบกพร่องแสดงถึงความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1731 เพราะแสดงยอดเงินสุทธิไม่แน่นอน บางรายการไม่ระบุดอกเบี้ยการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ของผู้คัดค้านทั้งสองอาศัยหลักเกณฑ์ตามราคาประเมินของกรมที่ดินไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่ราคาที่แท้จริง ทรัพย์บางรายการไม่ใช่มรดกกลับระบุว่าเป็นมรดก ทรัพย์บางรายการเป็นมรดกกลับระบุว่าไม่เป็นมรดกเห็นว่าตามบัญชีทรัพย์มรดกที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นต่อศาล ผู้คัดค้านทั้งสองได้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ตามสมควรแล้ว เพราะได้ระบุยอดเงินฝากในธนาคารซึ่งคำนวณดอกเบี้ยไว้แล้วถึงวันที่ระบุในช่องหมายเหตุ สำหรับใบหุ้นก็ได้ระบุราคาตามราคาตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ซื้อขายในช่องหมายเหตุเช่นเดียวกัน ส่วนสลากออมสินแม้จะยังมิได้คิดดอกเบี้ย แต่สามารถคำนวณดอกเบี้ยได้เมื่อสลากออมสินครบอายุแล้ว ที่ผู้ร้องอ้างว่าการแสดงยอดสุทธิไม่แน่นอนผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบว่ายอดที่แน่นอนควรเป็นเท่าใด ทั้งการที่ผู้คัดค้านกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยเกณฑ์ตามราคาประเมินของกรมที่ดินก็ชอบด้วยเหตุผลแล้วเพราะเป็นราคากลางส่วนทรัพย์บางรายการที่ระบุว่าเป็นมรดกหรือไม่เป็นมรดกก็เป็นการระบุไปตามความเห็นโดยสุจริตของผู้คัดค้านทั้งสอง ไม่มีเหตุแสดงว่าระบุโดยเจตนาทุจริตจะเบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตน หากผู้ร้องเห็นว่าการระบุดังกล่าวไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะคัดค้านได้ ผู้ร้องฎีกาข้อสุดท้ายว่าศาลชั้นต้นตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกโดยความยินยอมของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย ศาลควรสั่งถอดถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก เห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมิได้ปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่มีเหตุจะสั่งถอดถอนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share