คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยานโดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาลในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอยๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่ายังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น
แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถ้ามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจเป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ. เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกควายืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และวรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 14 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 18 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง ส. ผู้เสียหาย เกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 เป็นบุตรของนาย ย. กับนางสาว ล. หลังจากนาย ย. ถึงแก่ความตาย นางสาว ล. อยู่กินฉันสามีภริยากับนาย บ. ซึ่งเป็นน้องจำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยว่า เทปบันทึกภาพและเสียงการถามคำให้การผู้เสียหายในชั้นสอบสวน ตามวัตถุพยานหมาย ว.ถ.1 ศาลไม่สามารถรับฟังเสมือนเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ เนื่องจากมิใช่เป็นกรณีที่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง โดยโจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายได้ออกจากบ้านไปทำงานในตัวเมืองพังงาไม่ทราบที่อยู่ชัดเจนมารดาผู้เสียหายก็ไม่ทราบว่าผู้เสียหายอยู่ที่ใด ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งงดสืบพยานปากผู้เสียหายทั้งที่โจทก์ยังติดใจสืบอยู่ จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายาเบิกความเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ในข้อนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความตามวรรคหนึ่ง เพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา 133 ทวิ… เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล…” ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าการที่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นพยานโดยเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีมาเบิกความในคดีนั้น เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง อันจะทำให้ศาลมีอำนาจรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนตามวัตถุพยานหมาย ว.ถ.1 เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่ คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 29 เมษายน 2547 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 30 เมษายน 2547 โดยนัดพร้อมเพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 ถึงวันนัดโจทก์แถลงว่าได้รับรายงานการส่งหมายพยานลำดับที่ 3 และที่ 5 คงเหลือพยานลำดับที่ 1 และที่ 2 คือตัวผู้เสียหายกับมารดาเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงนัดพร้อมเพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายอีกครั้งในวันที่ 15 มีนาคม 2547 ครั้นถึงวัดนัดโจทก์แถลงว่าพยานที่ยังส่งหมายไม่ได้คือพยานลำดับที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้รับรายงานผลการส่งหมายจากเจ้าพนักงานตำรวจ ศาลชั้นต้นกำชับให้โจทก์เร่งติดตามพยานมาศาลในวันนัดให้ได้ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 29 เมษายน 2547 โจทก์คงมีพยานมาสืบเพียง 3 ปาก คือ นางสาว ล. มารดาผู้เสียหาย นางณัฐธยาน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา และพันตำรวจโทชาติศักดิ์ คุณล้าน พนักงานสอบสวน ส่วนผู้เสียหาย โจทก์ไม่ได้ตัวมาสืบและแถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 เมษายน 2547 ว่า จากข้อเท็จจริงในสำนวนศาลได้ให้โอกาสโจทก์ติดตามพยานปากนี้มา โดยมีการนัดพร้อมเพื่อตรวจสอบผลการส่งหมาย 2 ครั้ง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้จากนางสาว ล. มารดาผู้เสียหายว่าจนถึงปัจจุบันนางสาว ล. ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้เสียหายได้ เพียงได้ข่าวคราวว่าผู้เสียหายไปอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ชายและรับจ้างก่อสร้างในอำเภอเมืองพังงา พนักงานสอบสวนก็แถลงว่าไม่ทราบที่อยู่ของผู้เสียหายที่แน่ชัด ศาลชั้นต้นจึงเห็นว่าหากให้โอกาสโจทก์ต่อไป ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะได้ตัวผู้เสียหายมาหรือไม่ ทั้งคดีนี้จำเลยต้องขังมาโดยตลอด จึงให้งดสืบพยานโจทก์ปากนี้ เห็นว่า โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยานโดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาลในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอยๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่ายังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนตามวัตถุพยานหมาย ว.ถ.1 เหมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จะรับฟังเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้สอบสวนตามวัตถุพยานหมาย ว.ถ.1 และบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.14 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จะได้ความจากวัตถุพยานหมาย ว.ถ.1 และเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าถูกจำเลยข่มขื่นกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปี จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2546 ก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจเป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์มีนางณัฐธยาน์เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของผู้เสียหายก็เห็นได้ชัดว่านางณัฐธยาน์ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของนางณัฐธยาน์จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ขณะให้การต่อพนักงานสอบสวน ผู้เสียหายมีอายุเพียง 14 ปีเศษ คดีความผิดทางเพศเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับลูกผู้หญิง ผู้เสียหายคงจะไม่ให้การเท็จต่อพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลจึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share