คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญา เมื่อคดีขาดอายุความศาลยกอายุความขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ความผิดฐานยักยอกและฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินผู้อื่นกระทำผิดหน้าที่อันเป็นความผิดยอมความได้ ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีขาดอายุความ แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลพิพากษายกฟ้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนพิจารณาพิพากษารวมกัน คดีมีปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับนายประพัตร์จำเลย

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสมุหบัญชีและพนักงานเก็บเงินได้ลงข้อความเท็จในบัญชีและยักยอกเงินของโจทก์

จำเลยให้การปฏิเสธ

เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์ถอนฟ้องฐานลงข้อความเท็จในบัญชี และจำเลยให้การรับสารภาพฐานยักยอก

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353 จำคุกสำนวนละ 6 เดือน รวมเป็น 1 ปี ลดรับสารภาพหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ตกลงยอมความไม่เอาผิดกับจำเลย สิทธิฟ้องร้องจึงระงับ และคดีขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า กรรมการผู้จัดการของโจทก์ตรวจพบว่าเงินของโจทก์ขาดหายไป จึงได้ติดต่อกับจำเลยให้จัดหาเงินมาใช้ จำเลยได้ส่งจดหมายลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2503 ขอรับสารภาพผิดทุกประการดังนี้ ฟังได้ว่า โจทก์ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2503 โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 เกิน 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความ แม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่จำเลยก็ได้อุทธรณ์ไว้ และในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ศาลอาจยกอายุความขึ้นพิจารณาได้เอง

พิพากษายืน

Share