แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มูลเหตุเลิกจ้างคดีนี้เป็นมูลเหตุเดียวกันกับคดีที่โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยก็ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น ดังนั้นคดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 86,240 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 8,624 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 103,488 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความตกลงกันได้ในประเด็นเรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยจำเลยชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวนตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ติดใจในประเด็นดังกล่าวต่อไป
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 103,488 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 พฤษภาคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า โจทก์จำเลยนำสืบและศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า มูลเหตุเลิกจ้างในคดีนี้เป็นมูลเหตุเดียวกันกับคดีที่โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 และคำสั่งซื้อลดลงเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการทำงาน ปรับลดขนาดองค์กรและลดจำนวนพนักงานลงเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้จำเลยสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ไม่สำเร็จ แม้จะมีพนักงานลาออกไปตามโครงการอาสาลาออก 703 คน เหลืออยู่ 932 คน แต่ก็ยังมีจำนวนล้นปริมาณงานที่มีอยู่ จำเป็นต้องเลิกจ้างอีกจำนวนหนึ่ง โดยจำเลยได้พิจารณาเลิกจ้างพนักงานทั้งองค์กรทุกแผนกตามความเหมาะสม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เฉพาะแผนกผลิตอุปกรณ์จับยึดชิ้นงานที่โจทก์ประจำอยู่เดิมมีพนักงาน 18 คน ลาออกตามโครงการอาสาลาออกไป 14 คน เหลืออยู่ 4 คนนั้น ไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาเลย จำเลยเห็นว่าจำเป็นต้องยุบแผนกดังกล่าวจึงได้เลิกจ้างโจทก์และพนักงานที่เหลืออีก 3 คน หลังจากนั้นจำเลยก็ยังเลิกจ้างพนักงานในแผนกอื่นอีกและบอกเลิกสัญญาค่าแรงจ้างเหมาจนเหลือพนักงานอยู่ประมาณ 200 คน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในกำหนด ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ แม้ศาลแรงงานกลางจะให้คู่ความนำสืบและรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้าง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ก็เป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางขึ้นอ้าง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.