แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันไว้ระบุชื่อว่า “สัญญาจ้างเฝ้ารักษา” มีข้อกำหนดว่าผู้ว่าจ้าง (โจทก์) ตกลงให้ค่าจ้างแก่ผู้รับจ้าง(จำเลย) เฝ้ารักษาไม้ของกลางโดยคิดค่าจ้างเฝ้ารักษาเป็นเงิน 4,500 บาท จนกว่าผู้จ้างจะรับไม้ของกลางคืน หากไม้ของกลางสูญหายหรือเป็นอันตราย ผู้รับจ้างยอมให้ปรับไหมเป็นรายลูกบาศก์เมตร ระหว่างนั้นผู้จ้างอาจขนไม้ของกลางทั้งหมดหรือบางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใดๆ ก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบ และทำใบรับไม้ของกลางไว้ ทั้งตามบัญชีรายการไม้ของกลางต่อท้ายสัญญา ก็ระบุว่าไม้ของกลางอยู่ที่ป่าใดด้วย ทำสัญญาแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ชักลากไม้ของกลางจากป่านั้นไปเก็บรักษาไว้ในความอารักขาของตนเแต่อย่างใด ไม้ยังคงอยู่ที่เดิม พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าอำนาจครอบครองไม้ของกลางยังอยู่แก่ผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างเพียงแต่เฝ้ารักษาระวังไม่ให้เป็นอันตรายหรือสูญหายไปเท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นสัญญาฝากทรัพย์ไม่(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 685/2512)
การฟ้องให้ผู้รับจ้างใช้เบี้ยปรับ เพราะไม้ของกลางดังกล่าวสูญหายไปมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เมื่อนับตั้งแต่วันที่ไม้ของกลางหายไปจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี จึงหาขาดอายุความไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พนักงานป่าไม้ของโจทก์ได้ตรวจพบไม้หวงห้ามของกลางและทำสัญญาจ้างจำเลยเป็นผู้เฝ้ารักษาตามเอกสารท้ายฟ้อง ต่อมาปรากฏว่าไม้ดังกล่าวหายไป ๕๔ ท่อน ซึ่งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าปรับให้โจทก์ตามสัญญาเป็นเงิน ๒๖,๘๓๕ บาท แต่จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์เป็นสัญญาฝากทรัพย์ ไม้พิพาทสูญหายไปในเดือนตุลาคม ๒๕๑๔ เพราะเกิดเพลิงป่าไหม้ คดีโจทก์ขาดอายุความ และไม้พิพาทสูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นเงิน ๑๓,๔๑๗ บาทกับดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะประเด็นฟ้องโจทก์ขาดอายุความ หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยสัญญาท้ายฟ้องก่อนว่าเป็นสัญญาฝากทรัพย์ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ สัญญาหรือบัญชีรายการไม้ของกลางต่อท้ายสัญญาท้ายฟ้องแล้วเห็นว่า สัญญาระบุชื่อว่า “สัญญาเฝ้ารักษา” มีข้อกำหนดว่าผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางโดยคิดค่าจ้างเฝ้ารักษาเป็นเงิน ๔,๕๐๐ บาท จนกว่าผู้จ้างจะรับไม้ของกลางคืน หากไม้ของกลางสูญหายหรือเป็นอันตราย ผู้รับจ้างยอมให้ปรับไหมเป็นรายลูกบาศก์เมตร ระหว่างนั้นผู้จ้างอาจขนไม้ของกลางทั้งหมดหรือบางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใดๆ ก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบ และทำใบรับไม้ของกลางไว้ ทั้งตามบัญชีรายการไม้ของกลางต่อท้ายสัญญา ก็ระบุว่าไม้ของกลางอยู่ที่ป่าบางหิน ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง หลังจากทำสัญญาแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ชักลากไม้ของกลางจากป่านั้นไปเก็บรักษาไว้ในความอารักขาของตนเแต่อย่างใด ไม้ยังคงอยู่ที่เดิม พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าอำนาจครอบครองไม้ของกลางยังอยู่แก่ผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างเพียงแต่เฝ้ารักษาระวังไม่ให้เป็นอันตรายหรือสูญหายไปเท่านั้น มิเช่นนั้นผู้รับจ้างต้องเสียค่าปรับไหมเป็นลูกบาศก์เมตา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นสัญญาฝากทรัพย์ไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๕/๒๕๑๒ ระหว่างกรมป่าไม้กับพวกโจกท์ นายเกษียร ตันติเสวี จำเลย เมื่อกฎหมายลักษณะจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ไม้ของกลางหายเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๔ และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ จึงหาขาดอายุความไม่ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน