คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับโอนที่ดินมีโฉนดโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียน รู้ดีอยู่แล้วในขณะรับซื้อว่าส่วนหนึ่งของที่ดินนั้น ผู้อื่นครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้ว เช่นนี้ จะอ้างว่าซื้อโดยสุจริตไม่ได้ ฉะนั้น จึงหามีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ที่ครอบครองที่ดินส่วนนั้นจนได้กรรมสิทธิ์แล้วไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของจำเลยที่ ๑ ได้ถูกเจ้าพนักงานยึดออกขายทอดตลาด นางมูนะซื้อได้ ครั้ง พ.ศ. ๒๔๙๗ นางมะนูขายให้แก่นายอารีและนายอับดุลเลาะ พ.ศ. ๒๕๐๐ นายอารีและนายอับดุลเลาะขายที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์ จำเลยอยู่ในที่พิพาทส่วนหนึ่งในฐานะอาศัย โจทก์ให้จำเลยรื้อเรือนไป จำเลยขัดขืน จึงขอให้บังคับ
จำเลยต่อสู้ว่าครอบครองที่พิพาทมากว่า ๑๐ ปี โดยโจทก์ทราบดีแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินที่โจทก์ซื้อมา จำเลยที่ ๑ ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของโดยความสงบและเปิดเผย หาได้อาศัยสิทธิจากนางมูนะหรือนายอารีและนายอับดุลเลาะไม่ นับเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทด้วยอำนาจการครอบครองปรปักษ์ ตั้งตั้งก่อนที่โจทก์ได้รับซื้อที่ดินรายนี้มา ปัญหาจึงมีว่า การที่จำเลยที่ ๑ ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทด้วยอำนาจการครอบครองเช่นนั้น จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิแล้วได้หรือไม่ ศาลฎีกาไม่เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ได้ขออาศัยจากนางมูนะ และเชื่อว่า ในระหว่างที่นางมูนะเป็นเจ้าของอยู่ก็ดี นายอารีกับนายอับดุลเลาะเป็นเจ้าของอยู่ก็ดี ต่างก็คงจะเข้าใจว่าเป็นเจ้าของเฉพาะที่นาเท่านั้น ไม่รวมถึงที่พิพาทด้วย การที่โจทก์รับซื้อต่อมา โจทก์จะเข้าใจว่าซื้อทั้งที่พิพาทด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่โจทก์เกี่ยวเป็นญาติกับจำเลยที่ ๑ หาใช่ใครอื่นมาจากไหนไม่ และเช่านาซึ่งออยู่ในเขตโฉนดฉบับเดียวกับที่พิพาททำมาเป็นเวลา ๑๐ กว่าปีแล้วเหมือนกัน น่าเชื่อว่าโจทก์รู้ดีอยู่แล้วในขณะรับซื้อว่าที่พิพาทนั้นจำเลยที่ ๑
ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว เมื่อโจทก์รู้อยู่ดีเช่นนั้น ก็ย่อมอ้างไม่ได้ว่าซื้อโดยสุจริต แม้ที่พิพาทจะอยู่ในโฉนดที่โจทก์ซื้อ จำเลยที่ ๑ ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทด้วยอำนาจการครอบครอง ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share