แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อ พ.ศ. 2496 ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลจับจองที่พิพาทอันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อใช้ในกิจการของโรงเรียน ได้เข้าครอบครองที่พิพาทเพื่อกิจการของโรงเรียนแล้ว และยังได้ขึ้นทะเบียนพัสดุเคลื่อนที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของโรงเรียน โดยมีศึกษาธิการอำเภอรับรองว่าเป็นทรัพย์สินของโรงเรียน ครั้น พ.ศ. 2498 ครูใหญ่ก็ได้แจ้ง ส.ค.1 ที่พิพาทไว้ในฐานะแทนโรงเรียน ดังนี้แม้โรงเรียนประชาบาลดังกล่าวจะไม่เป็นนิติบุคคล แต่เป็นโรงเรียนที่นายอำเภอตั้งขึ้น จึงเป็นส่วนราชการของรัฐ และพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าทางราชการอำเภอได้รับเอาที่พิพาทมาเป็นทรัพย์สินของทางราชการแล้ว ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทภายหลัง พ.ศ. 2496 จึงไม่อาจจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท
กรณีดังกล่าวข้างต้น เมื่อต่อมาโรงเรียนประชาบาลนั้นได้โอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติโอนโรงเรียนประถมศึกษาบางประเภทไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2509 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติให้โอนบรรดากิจการและทรัพย์สินไปเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่รับโอนด้วย เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นนิติบุคคล ที่พิพาทจึงโอนมาเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่รับโอนนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทมา ๒๐ ปีแล้ว โดยรับมรดกมาจากบิดามารดา ต่อมาโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับรองการทำประโยชน์ที่นาดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ ๑ ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ ๓ คัดค้านว่าที่นาบางส่วนเป็นของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ได้ทำการสอบสวนแล้วให้โจทก์นำคดีมาฟ้อง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของโรงเรียนวัดบ้านสะแกโพรง (ปัจจุบันคือโรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์) ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มาโดยนายพัลลภครูใหญ่โรงเรียนวัดบ้านสะแกโพรงจับจองไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ และได้แจ้งการครอบครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นายพัลลภ ขำรัมย์ ครูใหญ่โรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์ ได้จับจองที่พิพาทเนื้อที่ ๑๒ ไร่ และได้แจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.๑ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ตามเอกสารหมาย ล.๒ และอาณาเขตตาม ส.ค.๑ ดังกล่าวตรงกันกับอาณาเขตตามแผนที่พิพาท โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทภายหลังที่นายพัลลภ ขำรัมย์ ได้จับจองและครอบครองอยู่ก่อนตลอดมาจนบัดนี้ ปัญหามีว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทหรือไม่ ปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งนายพัลลภ ขำรัมย์ ครูใหญ่โรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์เป็นผู้จับจองไว้เพื่อใช้ในกิจการของโรงเรียน ดั่งจะเห็นได้จากการแจ้งการครอบครองก็ได้แจ้งในฐานะโรงเรียนและแจ้งสภาพที่ดินว่าใช้สำหรับทำสวนของโรงเรียน แม้โรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์จะไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย แต่ได้ความว่า โรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์เป็นโรงเรียนประชาบาลที่นายอำเภอบุรีรัมย์ได้ตั้งขึ้น จึงเป็นส่วนราชการของรัฐ เมื่อนายพัลลภ ขำรัมย์ ครูใหญ่ได้จับจองและเข้าครอบครองเพื่อกิจการของโรงเรียนในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้วในปีนั้นเองก็ได้ขึ้นทะเบียนพัสดุเคลื่อนที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของโรงเรียน โดยระบุว่าทำสวนครัวและปลูกบ้านพักครูโดยมีศึกษาธิการอำเภอเมืองบุรีรัมย์ขณะนั้นคือ นายพิน วงษ์สวัสดิ์ รับรองว่าเป็นทรัพย์สินของโรงเรียน ปรากฏตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.๑ เป็นการแสดงว่าทางราชการอำเภอได้รับเอาที่พิพาทมาเป็นทรัพย์สินของทางราชการไว้แล้วตั้งแต่นั้นมา ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นต้นมา ต่อมาโรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลที่นายอำเภอบุรีรัมย์จัดตั้งขึ้นได้โอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติโอนโรงเรียนประถมศึกษาบางประเภทไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๓ และตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สินไปเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่รับโอนมาด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๕ ซึ่งได้รับโอนกิจการและทรัพย์สินของโรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์มา ดังกล่าวดังนั้นที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโรงเรียนสะแกโพรงอนุสรณ์จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ จำเลยที่ ๓ ด้วย เมื่อฟังว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๖ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่านายพัลลภ ชำรัมย์ จับจองที่พิพาทและแจ้งการครอบครองไว้เป็นการส่วนตัว โจทก์เข้าทำกินในที่พิพาทโดยพลการ และได้สิทธิครอบครองแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์