แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อเสนอขายเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ จัดหาแค็ตตาล็อกพร้อมราคา ประสานกับบริษัท ม. ผู้ผลิต พา พ. กรรมการโจทก์ ไปดูเครื่องจักรตัวอย่างที่ประเทศสเปน โดยพรรณนาคุณลักษณะและประสิทธิภาพของเครื่องจักรจนโจทก์ตกลงซื้อ ทั้งยังให้บริการหลังการขาย จัดส่งเงื่อนไขการชำระเงิน พร้อมทั้งขอให้โจทก์ดำเนินการจ่ายเงิน 3 งวด ตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตาม แม้โจทก์จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรพิพาทที่จำเลยที่ 2 จัดทำและส่งให้ แต่จำเลยทั้งสองได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ขาย ส่วนโจทก์ก็ยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาแล้วเช่นกัน จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจะขอให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาซื้อขายอีก พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้มุ่งให้การซื้อขายเครื่องจักรพิพาท จะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ และเมื่อเครื่องจักรมีปัญหาทำงานไม่ได้ตามคำพรรณา จำเลยที่ 1 ก็จัดส่งวิศวกรเข้าไปแก้ไข ทั้งมีการทำหลักฐานไว้ว่า หลังจากวันติดตั้งไปจนวันครบกำหนดประกัน ถ้าเครื่องจักรมีปัญหา จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบแก้ไข แม้ขณะตกลงซื้อขายจำเลยทั้งสองจะไม่ใช่เจ้าของเครื่องจักรพิพาทก็ตาม สาระสำคัญอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ ที่บริษัท ม. จัดส่งเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ก็เป็นวิธีการจัดการให้โจทก์ได้รับเครื่องจักรที่จำเลยที่ 1 ตกลงขายแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง การที่บริษัท ม. ส่งวิศวกรมาแนะนำ แก้ไขเครื่องจักรพิพาทที่มีปัญหาขัดข้องก็เกิดจากการติดต่อประสานงานของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขาย จึงไม่มีผลทำให้บริษัท ม. ผู้ผลิตและส่งเครื่องจักรพิพาทกลายมาเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับโจทก์แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,037,509.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,490,512.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองรับเครื่องจักรพิพาทคืนจากโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 9,394,557.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,490,512.50 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 ธันวาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นให้แก่โจทก์ ให้โจทก์คืนเครื่องจักรพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการติดตั้งเสารับสัญญาณโทรศัพท์ มีนายไพบูลย์หรือนายจตุรภัทร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด เป็นบริษัทจำหน่ายเครื่องตัดและเจาะเหล็กยี่ห้อเจก้า ตั้งอยู่ที่ประเทศสเปน เมื่อเดือนกันยายน 2544 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อขายเครื่องตัดและเจาะเหล็กยี่ห้อเจก้า ชนิดแองเกิ้ล โปรเซสซิ่ง ไลน์ รุ่นแอลป์ 150 เพื่อใช้เจาะรู ทำเครื่องหมายและตัดเหล็กฉาก ทั้งลักษณะเป็นรูปตัวยูและเหล็กเส้นแผ่นเรียบ ซึ่งมีโปรแกรมการทำงานโดยใช้ควบคู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ ก่อนหน้านี้นายไพบูลย์เคยซื้อเครื่องจักรจากจำเลยที่ 1 ในนามบริษัทบางกอก เพียวริตี้ คอมเพล็กซ์ จำกัด จำนวน 8 เครื่อง ต่อมานายไพบูลย์และจำเลยที่ 2 เดินทางไปดูเครื่องจักรตัวอย่างที่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ที่ประเทศสเปน แล้วตกลงซื้อเครื่องจักรพิพาทของบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่างสัญญาซื้อขายเครื่องจักรพิพาท เสนอขายเครื่องจักรในราคา 212,500 ยูโร จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาซื้อขาย แล้วนำไปให้นายไพบูลย์ตรวจสอบและลงชื่อ ต่อมาเมื่อบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ส่งเครื่องจักรพิพาทมาติดตั้งให้แก่โจทก์เมื่อเดือนธันวาคม 2544 โจทก์มิได้ลงชื่อในสัญญา จำเลยที่ 2 ก็ไม่ทักท้วงและไปรับสัญญาซื้อขายคืนจากโจทก์ จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ชำระค่าเครื่องจักรพิพาทโดยโอนเงินมัดจำ จำนวน 42,500 ยูโร ให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัดกับเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตส่งเงินค่าเครื่องจักรงวดอีกจำนวน 127,500 ยูโร ไปให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด โดยตรงและชำระค่าเครื่องจักรส่วนที่เหลือจำนวน 42,500 ยูโร เมื่อเครื่องจักรพิพาทลงเรือแล้ว โจทก์ชำระเงินงวดแรกให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ต่อมาชำระเงินจำนวน 42,500 ยูโร ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินบาทจำนวน 1,721,250 บาท ที่ประเทศไทยและเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินค่าเครื่องจักรไปให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จำนวน 127,500 ยูโร บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ส่งช่างไปติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานของโจทก์แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2545 แต่เมื่อใช้งานปรากฏว่าเครื่องจักรทำงานไม่ได้ตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองส่งช่างไปแก้ไขเครื่องจักรแต่ยังคงมีปัญหาในการใช้งาน โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับแล้วแต่เพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาซื้อขายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อเครื่องจักร มาจากบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด โดยตรง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฎีกาว่า ก่อนซื้อเครื่องจักรพิพาท นายไพบูลย์เคยซื้อเครื่องจักรจากจำเลยที่ 1 ในนามบริษัทบางกอก เพียวริตี้ คอมเพล็กซ์ จำกัด จำนวน 8 เครื่อง ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อเสนอขายเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่างสัญญาซื้อขายเครื่องจักรพิพาทและลงชื่อในฐานะผู้ขาย ตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรไปให้โจทก์ตรวจสอบ โดยเสนอขายในราคา 212,500 ยูโร โจทก์ตกลงสัญญาซื้อขายเครื่องจักรพิพาทจึงเกิดขึ้นแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฝากสัญญาซื้อขายไว้เพื่อให้นายไพบูลย์ลงชื่อ โจทก์ก็บอกจำเลยที่ 2 แล้วว่าจะลงชื่อในภายหลัง ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ทักท้วง ถึงแม้จำเลยที่ 2 ไปรับสัญญาซื้อขายคืนจากโจทก์แล้ว แต่ก็ส่งโทรสาร แจ้งให้โจทก์ชำระค่าเครื่องจักรโดยให้โอนเงินมัดจำค่าเครื่องจักร จำนวน 42,500 ยูโร เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวน 127,500 ยูโร และชำระส่วนที่เหลือจำนวน 42,500 ยูโร เมื่อของลงเรือแล้ว ซึ่งโจทก์ชำระเงินงวดแรกให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จำนวน 42,500 ยูโร ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินบาทที่ประเทศไทยและเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินค่าเครื่องจักรไปให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จำนวน 127,500 ยูโร ส่วนที่สัญญาซื้อขายไม่มีลายมือชื่อฝ่ายโจทก์ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะสัญญาซื้อขายด้านล่างลายมือชื่อจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุว่า สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์ยกเว้นได้มีการลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทผู้ขาย หลังจากเครื่องจักรพิพาทมีปัญหา จำเลยที่ 2 ก็แก้ปัญหาให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์แจ้งให้รับผิดชอบโดยจัดส่งเครื่องจักรเครื่องใหม่ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิด เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบรับว่า นายไพบูลย์ขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยหาเครื่องจักร จำเลยที่ 2 เลือกเครื่องจักรของบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด นายไพบูลย์ขอให้จัดหาแค็ตตาล็อกพร้อมราคาเครื่องจักร จำเลยที่ 2 จึงติดต่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องจักรและการชำระเงินให้ จำเลยทั้งสองเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด และพานายไพบูลย์ไปดูเครื่องจักรตัวอย่างที่ประเทศสเปน โดยพรรณนาคุณลักษณะและประสิทธิภาพของเครื่องจักรจนโจทก์ตกลงซื้อและให้บริการหลังการขายแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้และนำสืบในเรื่องสัญญาซื้อขายว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ลงชื่อเพราะหลังจากไปดูเครื่องจักร โจทก์อ้างว่าได้ตกลงซื้อขายโดยตรงกับบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จะชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทโดยไม่ผ่านจำเลยทั้งสองนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขาย แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ขาย ส่วนโจทก์ก็ยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาฉบับดังกล่าวเช่นกัน ดังที่ปรากฏตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนางสาวอัจฉรีย์ว่า พยานทราบเรื่องการซื้อขายเครื่องจักรพิพาทจากนายไพบูลย์เนื่องจากต้องจัดสรรเงินมาซื้อเครื่องจักร โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อเสนอขาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ทวงถามให้ชำระเงิน พยานขอให้จำเลยที่ 2 ส่งรายละเอียดการชำระเงินให้ทางโทรสาร จำเลยที่ 2 จึงส่งรายละเอียดการชำระเงินให้แก่โจทก์ โดยกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าเครื่องจักรงวดแรกอัตราร้อยละ 20 ของราคาเต็ม ทางโทรเลขจำนวน 42,500 ยูโร ให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ที่ประเทศสเปน งวดที่ 2 ตกลงชำระเงินจำนวน 42,500 ยูโร โดยชำระเป็นเงินบาทใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันชำระเมื่อของลงเรือ งวดที่ 3 ให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระค่าเครื่องจักรแก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จำนวน 127,500 ยูโร พยานโอนเงินค่าเครื่องจักรงวดแรกจำนวน 42,500 ยูโร ไปยังบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ตั้งแต่วันที่ได้รับโทรสารตามหลักฐานการโอนเงิน ส่วนงวดที่ 2 เมื่อสินค้าลงเรือ จำเลยที่ 1 ส่งใบกำกับภาษีและใบส่งของมายังโจทก์ ขอเรียกเก็บเงินจำนวน 1,721,250 บาท สำหรับงวดที่ 3 โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขารามคำแหง ส่งเงินค่าเครื่องจักรไปให้แก่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ซึ่งหากโจทก์ติดต่อซื้อเครื่องจักรพิพาทกับบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด โดยตรงและจำเลยทั้งสองไม่ใช่คู่สัญญาอีกต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จำเลยทั้งสองจะขอให้โจทก์ชำระค่าเครื่องจักรพิพาทตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรทุกข้อและโจทก์ก็ปฏิบัติตามสัญญาเช่นกัน แม้จำเลยทั้งสองจะนำสืบว่า การชำระเงินงวดที่ 2 เป็นการชำระค่าอุปกรณ์เสริมที่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาทุนเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ขายแก่โจทก์เอากำไร จำเลยที่ 1 จึงออกใบกำกับภาษีหรือใบส่งของให้แก่โจทก์ โดยระบุว่าเป็นรายการสินค้าอุปกรณ์อะไหล่สำหรับเครื่องเจาะ ก็เป็นเรื่องภายในของจำเลยทั้งสองที่อาจระบุผิดไปจากความเป็นจริงเพื่อสิทธิประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งนางสาวอัจฉรีย์เบิกความอธิบายเรื่องนี้ว่า เมื่อเห็นใบกำกับภาษี/ใบส่งของ ระบุว่าเป็นการชำระค่าอุปกรณ์อะไหล่สำหรับเครื่องเจาะ พยานจึงสอบถามจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้นำเข้าเครื่องจักร ไม่สามารถเปิดบิลเป็นรายการค่ามัดจำเครื่องจักรได้ จึงสอบถามฝ่ายบัญชีของโจทก์ ได้รับแจ้งว่าไม่มีปัญหา นายไพบูลย์จึงเจรจากับจำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระหนี้เป็น 3 งวด เนื่องจากจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 1 ยอมตกลง โจทก์จึงสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ แก่จำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามเมื่อรวมเงินตามเช็คทั้งสามฉบับก็มีจำนวนเท่ากับค่าเครื่องจักรพิพาทที่กำหนดให้โจทก์ชำระในงวดที่ 2 ซึ่งระบุในใบกำกับภาษี/ใบส่งของและจำเลยทั้งสองได้รับเงินแล้ว ซึ่งคำเบิกความของนางสาวอัจฉรีย์สอดคล้องกับจำนวนเงินและเวลาที่กำหนดให้โจทก์ชำระค่าเครื่องจักร ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ น่าเชื่อว่าเงินจำนวน 1,721,250 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าเครื่องจักร ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่มีการทวงถามค่าเครื่องจักรและขอให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรอีก ทั้งยังแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้มุ่งให้การซื้อขายเครื่องจักรพิพาทนั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาอีก ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว หาได้มีกรณีที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ และหลังจากเครื่องจักรพิพาทมีปัญหาทำงานไม่ได้ตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ในคำพรรณาแนบสัญญาซื้อขายเครื่องจักร จำเลยที่ 1 ก็ส่งนายสาท ซึ่งเป็นวิศวกรไปดูแล แก้ไข ทั้งส่งไปอบรมที่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ประเทศสเปน โดยบริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่ออบรมเสร็จก็กลับมาช่วยแก้ไข ซ่อมแซมเครื่องจักรพิพาทให้แก่โจทก์ หลังจากติดตั้งเครื่องจักรพิพาทและทดสอบการทำงานอีกครั้ง มีการทำหลักฐานไว้ว่าหลังจากวันดังกล่าวไปจนครบกำหนดประกัน ถ้าเครื่องจักรพิพาทมีปัญหาเรื่องการทำงาน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนายสาทลงชื่อในฐานะฝ่ายบริการของจำเลยที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงการซื้อขายเครื่องจักร ในหัวข้อการรับประกันที่ว่า จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบเป็นเวลา 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่เครื่องจักรเริ่มทำงาน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ติดต่อและเป็นผู้ขายเครื่องจักรพิพาทให้แก่โจทก์ โดยมีสาระสำคัญตามข้อตกลงการซื้อขายเครื่องจักร แม้ขณะที่ตกลงซื้อขาย จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของเครื่องจักรพิพาทก็ตาม เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือ ให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์และที่บริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด จัดส่งเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ ก็เป็นวิธีการจัดการให้โจทก์ได้รับเครื่องจักรที่จำเลยที่ 1 ตกลงขายให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้เองโดยตรงจึงต้องให้ผู้ผลิตจัดส่งให้แก่โจทก์ ส่วนการส่งเครื่องจักรพิพาทจะเกิดจากการติดต่อประสานงานของโจทก์เองหรือจำเลยทั้งสองมิใช่ข้อสาระสำคัญและที่วิศวกรของบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด มาแนะนำ ช่วยเหลือ แก้ไข ซ่อมแซม เมื่อเครื่องจักรพิพาทเกิดปัญหาข้อขัดข้องในการทำงาน ก็เกิดจากการติดต่อประสานงานของจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่ในฐานะผู้ขาย ส่วนบริษัทแมคคินาเรีย เจก้า เอสเอ จำกัด ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตเครื่องจักรพิพาทเท่านั้น ไม่ได้มีผลให้บริษัทผู้ผลิตและส่งเครื่องจักรพิพาทกลายเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรแต่อย่างใด และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท