คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1019/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนตามสัญญาประกันนั้นมิใช่จะถือเคร่งผ่อนผันไม่ได้ ปรากฏว่าในวันก่อนถึงกำหนดนัดส่งตัว ส.1วัน ส. ได้มาพบโจทก์และนำเงินและเช็คมามอบแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค โจทก์ออกใบรับให้ ส. ไว้ วันนัดส่งตัวอยู่ระหว่างผ่อนผันเพื่อให้ประนีประนอมยอมความใช้เงินตามเช็คเท่ากับยังไม่มีวันนัดส่งตัวแน่นอนนั่นเองเมื่อจำเลยไม่ส่งตัวให้โจทก์ในวันนัดโจทก์จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาประกันหาได้ไม่ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนางโสภาผู้ต้องหาเรื่องออกเช็คโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็คไปจากโจทก์ โดยสัญญาว่าจะส่งตัวนางโสภาผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ในวันที่ 19 มิถุนายน2515 เวลา 8.30 นาฬิกา ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำพูน ถ้าผิดสัญญาส่งไม่ได้ตามกำหนดนัด ยอมใช้เงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ ครั้นถึงกำหนดนัดจำเลยส่งตัวนางโสภาผู้ต้องหาให้ไม่ได้ เป็นการผิดสัญญาโจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยนำเงิน 20,000 บาท มาชำระ จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้บังคับชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดนัด วันที่ 18 มิถุนายน 2515โจทก์นัดให้นางโสภาผู้ต้องหาไปพบเพื่อตกลงประนีประนอมยอมความกันในเรื่องเช็คตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 617/2515 ของศาลจังหวัดลำพูนจำเลยก็ส่งตัวให้แล้ว และตกลงกับโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายรับชำระหนี้บางส่วนไว้แล้ว สั่งให้จำเลยผ่อนชำระที่เหลือทุกเดือนครั้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2515 นางโสภานำเงินจำนวนหนึ่งไปพบโจทก์เพื่อผ่อน โจทก์ว่าน้อยไป ให้หาเพิ่ม ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2515 นางโสภาก็นำเงินไปเพิ่มชำระอีก โจทก์ไม่ยอมรับ กลับจับกุมนางโสภา ควบคุมตัวไว้ นางโสภาจึงฟ้องโจทก์กับพวกหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในที่สุดโจทก์ยอมใช้ค่าเสียหายให้นางโสภา โจทก์คุมแค้นจำเลยเพราะเป็นสามีนางโสภา จึงฟ้องคดีนี้แก้เกี้ยว

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ในวันนัดส่งตัวนางโสภา นางโสภาหรือจำเลยไม่ได้ไปยังสำนักงานของโจทก์ แต่เบี้ยปรับกำหนดไว้สูงเกินไป พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง

โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาขอให้บังคับใช้เบี้ยปรับเต็มตามสัญญา จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2515 นางโสภาภรรยาจำเลยถูกจับในข้อหาฐานออกเช็คโดยเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ในวันที่ 11 เดือนเดียวกันจำเลยขอยื่นขอประกันตัวนางโสภาต่อผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งอนุญาตให้ประกันตัว โจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวนได้จัดให้จำเลยทำสัญญาประกันโดยแสดงหลักทรัพย์ โดยโจทก์เข้าเป็นคู่สัญญากับจำเลย จำเลยสัญญา ว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัด ณ สถานีตำรวจ ซึ่งระบุแจ้งวันนัดครั้งแรกไว้ที่ด้านหลัง คือวันที่ 19 มิถุนายน 2515 เวลา 8.30 นาฬิกา เพียงครั้งเดียว จำเลยลงชื่อทราบวันนัดแล้ว ตามสัญญาข้อ 2 ระบุว่า ถ้าจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัด ยอมใช้เงิน(ค่าปรับ) 20,000 บาท ครั้นถึงกำหนดนัดดังกล่าวจำเลยไม่ได้ส่งตัวนางโสภาผู้ต้องหาต่อโจทก์ โจทก์ถือว่าผิดสัญญาประกัน ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2515 นางโสภาไปที่บ้านพักสัสดีอำเภอเมืองลำพูน โจทก์จึงจับนางโสภาไว้ดำเนินคดีเรื่องเช็คดังกล่าว รุ่งขึ้นก็ให้ประกันตัวไปอีกเป็นเหตุให้นางโสภาฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำให้นางโสภาปราศจากเสรีภาพ โจทก์ยอมเสียเงินให้นางโสภาไป 10,000 บาท นางโสภายอมถอนฟ้อง ศาลอนุญาตแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2515 และต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2515 พนักงานอัยการจึงฟ้องนางโสภาเรื่องเช็ค ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน คดีถึงที่สุด ในวันสืบพยานจำเลยครั้งสุดท้ายตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน2515 โจทก์จึงได้ฟ้องคดีนี้

ปัญหาว่า จำเลยประพฤติผิดสัญญาประกันต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากำหนดนัดส่งตัวผู้ต้องหาตามสัญญาประกันนั้น มิใช่กรณีที่จะต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดตายตัวเสมอไป จนถึงกับพนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจผ่อนผันสั้นยาวแก่นายประกันไม่ได้ หากปรากฏแน่ชัดว่าผู้ต้องหาหลบหนีประกันไปหรือหลีกเลี่ยงหลบซ่อนตัวเสียจนนายประกันส่งตัวไม่ได้ จึงจะสมควรถือได้ว่านายประกันจงใจผิดสัญญาประกันเพราะมิได้ระมัดระวังให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามนัด ประกอบทั้งการนัดส่งตัวผู้ต้องหาจะต้องมีเหตุผลแสดงว่านัดมาทำไม ไม่ใช่นัดไว้ลอย ๆ โดยปราศจากเหตุผล นางโสภาผู้ต้องหาถูกโจทก์สอบสวนคำรับสารภาพไว้แล้วในวันที่ 9 มิถุนายน 2515 ซึ่งเป็นวันถูกจับครั้งแรก ไม่ปรากฏว่าวันที่ 19 มิถุนายน 2515 อันเป็นวันนัดส่งตัว โจทก์จะดำเนินการส่งฟ้องนางโสภาต่อพนักงานอัยการอย่างไรไม่ ตรงข้ามกลับได้ความว่าในวันที่ 18 มิถุนายน 2515 ก่อนวันนัดหนึ่งวัน นางโสภาก็ได้มาพบโจทก์ที่สถานีตำรวจ โดยนำเงินสดจำนวน 6,000 บาท และเช็คอีกฉบับหนึ่งสั่งจ่ายเงิน 1,400 บาทมามอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ตามเช็คที่ออกให้นายวิจิตร ภู่เจริญ ความผิดของนางโสภาเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ผู้เป็นพนักงานสอบสวนได้ออกใบรับเงินและเช็คให้นางโสภา ไว้เป็นหลักฐานแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอาวันนัดส่งตัวตามสัญญาประกันในวันรุ่งขึ้นเป็นสำคัญแต่ประการใด เพราะอยู่ระหว่างการผ่อนผันเพื่อให้ประนีประนอมยอมความใช้เงินตามเช็คอยู่เท่ากับยังไม่มีวันนัดส่งตัวแน่นอนนั่นเอง โจทก์จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาประกันหาได้ไม่ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลย

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share