คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ล่วงด่านป่าไม้ ไม่มีใบเบิกทางกำกับตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 39 นั้น มุ่งหมายถึงไม้ที่ทำออกได้โดยรับอนุญาตจากเจ้าพนักงานภายหลังที่นำไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตแล้วประการ หนึ่ง กับไม้ที่ทำออกโดยไม่ต้องรับอนุญาต ภายหลังที่นำไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว อีกประการหนึ่ง เท่านั้น ถ้า หากนำไม้ที่ทำออกโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำไม้ที่มีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตเคลื่อนล่วงด่านป่าไม้แล้ว ย่อมไม่อยู่ ในบังคับแห่งบทมาตรานี้.
(อ้างฎีกาที่ 38/2492)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยนำไม้สัก ซึ่งเป็นไม้หวงห้าม เคลื่อนที่ล่วงด่านป่าไม้โดยไม่มีใบเบิกทาง และจำเลยมีไม้ดังกล่าวไว้ ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษ
จำเลยต่อสู้ว่า ไม่ใช้ไม้หวงห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานนำไม้หวงห้าม เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เถียงว่า การมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง ย่อมหมายถึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิไม้นั้น เป็น ข้อเถียงที่ฟังไม่ได้ เพราะคำว่า มีไว้ในครอบครอง ย่อมมีความหมายชัดอยู่ว่า ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะการเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิเท่านั้น ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ได้
ส่วนปัญหาการนำไม้เคลื่อนที่ล่วงด่านป่าไม้ต้องมรใบเบิกทางนั้น เมื่อได้พิจารณา พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ แล้ว จะเห็น ได้ว่ากฎหมายมุ่งหมายเฉพาะถึงการนำไม้ที่ทำออกตามใบอนุญาตของเจ้าพนักงานประการหนึ่ง กับนำไม้ที่ทำออกโดย ไม่ได้รับอนุญาต ไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว อีกประการหนึ่ง แต่ไม้ของกลางรายนี้ จำเลยมีไว้โดยผิดกฎหมายป่าไม้ อันเป็นผิดอยู่แล้ว กฎหมายจะบังคับให้จำเลยผู้ที่กระทำผิดต้องไปขอใบเบิกทางกำกับไม้นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ตามนัย ฎีกาที่ ๓๘/๒๔๙๓ จำเลยจึงยังไม่ผิดฐานนี้
จึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยไม่ผิดฐานนำไม้เคลื่อนที่ล่วงด่าน โดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ นอกจากนี้คงยืน.ล

Share